นักวิจัยผู้เชื่อว่าโจทย์ต่าง ๆ ล้วนต้องการศาสตร์มากกว่าหนึ่งแขนงเสมอ
การบริโภคอย่างยั่งยืนกับการเติบโตในทางเศรษฐกิจคล้ายว่าอยู่ในขั้วตรงข้ามกันเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีภาพจำว่าต้องผลิตให้มากเข้าไว้ จึงจะสามารถสร้างเม็ดเงินและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ตามต้องการ
ทว่าแนวคิดเช่นนั้นดูเป็นเรื่องไม่ร่วมสมัย เมื่อได้มารับรู้ประสบการณ์การทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้จาก รศ. ดร.พีระ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัย “จัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัด”
ขอบเขตงานวิจัยดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SDGs ถึง 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งยืนยันแนวคิดของ รศ. ดร.พีระ เจริญพร ที่เชื่อว่า ‘โจทย์ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมล้วนต้องใช้ศาสตร์มากกว่าหนึ่งแขนงในการแก้ไข’
การเติบโตทางวิชาการที่ไม่ตอบสนองความต้องการของสังคม กำแพงสูงที่โลกวิชาการควรข้ามให้พ้น
การศึกษาในเชิงลึกคือกลไกสำคัญที่ทำให้ศาสตร์หนึ่ง ๆ พัฒนาไปได้อย่างเฉียบคมมากขึ้น โลกวิชาการจึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษา พิสูจน์ และต่อยอดองค์ความรู้เดิมเป็นสำคัญ กระนั้นการพยายามพัฒนาในเชิงลึกการก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป โดยเฉพาะในบริบทของโลกยุคปัจจุบัน
“ผมเรียนมาทางด้านนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรม ส่วนความสนใจของผมโดยพื้นฐานก็จะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และการบริหารจัดการ นอกเหนือจากงานวิชาการ ผมจึงมีโอกาสได้ทำงานวิจัยอีกอย่างหนึ่ง คืองานเชิงที่ปรึกษา ทำงานให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเขามีโจทย์ที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาใดโดยที่ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องใช้เครื่องมือของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง”
“พอมีโอกาสได้ทำงานด้านนโยบายอุตสาหกรรม ก็พบว่า ประการแรก เราต้องมีความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม ต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละสาขาอุตสาหกรรม เราต้องเข้าใจว่าโรงงานขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแบบไหน มันก็เลยไปเกี่ยวข้องกับสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่พอสมควร ประการที่สอง พอเราไปดูเรื่องนโยบาย ก็ต้องแตะเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน เรื่องกฎหมาย ทำให้เราต้องเข้าใจกระบวนการการออกนโยบาย เข้าใจเรื่ององค์ประกอบของกฎหมาย เข้าใจว่าถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือว่านักวิศวกรรม เวลาเขาสร้างนวัตกรรม ธุรกิจเขามีวิธีคิดอย่างไร ส่วนฝั่งนักวิจัยเรามีวิธีคิดอย่างไร แล้วก็ต้องทำงานร่วมกันแบบนี้ถึงจะออกข้อเสนอแนะที่ดีได้”
การออกจากขอบเขตงานวิชาการไปสัมผัสกับงานที่ตอบโจทย์สังคมมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้ รศ. ดร.พีระ ได้ทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้อย่างเป็นรูปธรรม และได้ตกตะกอนว่า ความรู้บริสุทธิ์เพียงศาสตร์เดียวไม่อาจรับมือกับปัญหาอันแสนซับซ้อนในชีวิตจริงได้
“ถ้าเป็นสมัยก่อน คนที่เรียนเพื่อไปเป็นผู้บริหารองค์กรก็จะต้องมีความรู้มากกว่า 1 สาย อย่างธรรมศาสตร์นี่ก็เคยเป็นตลาดวิชา เรียนแบบ Liberal Arts มาก่อน ตอนหลัง ตลาดวิชาก็เริ่มมีความเฉพาะเจาะจง เป็นสายที่เฉพาะศาสตร์มากขึ้น ถ้าเทียบกับภาพกว้างก็คือขนาดขององค์กรมันใหญ่ขึ้น มันก็ต้องการคนที่เฉพาะทางมากขึ้น จึงเกิด Division of Labour ขึ้นมา เพื่อให้ทำงานได้เจาะจงและมีความชำนาญมากยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดโครงสร้างในสังคมก็คือทุกศาสตร์มันต้องทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหนึ่ง อย่างในองค์กรแม้จะมีหน่วยงาน มีแผนกต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุดเพื่อจะทำอะไรให้สำเร็จ ทุกแผนกก็ต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน มันเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งศึกษาโจทย์ของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความหลากหลายอยู่แล้ว
“อย่างในอดีต อาจารย์มหาวิทยาลัยจะทำหลายหน้าที่ เป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งที่ปรึกษารัฐบาล เป็นทั้งคนขับเคลื่อนชี้นำสังคม เพราะสังคมยังขาดผู้เชี่ยวชาญและยังไม่มี Division of Labour ขนาดนี้ ต่อมาเมื่อมีองค์กรที่ทำงานเฉพาะทางมากขึ้น คุณค่าของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมันจึงถูกตีกรอบให้เป็นฝั่งวิชาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีตลกร้ายที่ว่า เปเปอร์บางเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคะแนน impact factor สูง ๆ อาจจะมีคนอ่านไม่ถึง 200 คนบนโลก ในขณะที่งานเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์อาจมีคนอ่านเป็นพันเป็นหมื่นต่อวัน การทำงานวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยเหมือนทำงานอยู่บนหอคอยงาช้าง เพราะโจทย์งานวิชาการที่เราทำมันไกลจากโจทย์ที่สังคมต้องการจริง ๆ ออกไปเรื่อยๆ
“ต้องพูดอย่างนี้ว่า คุณประโยชน์ของงานฝั่งวิชาการมันก็มีอยู่ เพียงแต่โจทย์ของโลกนี้นับวันมันยิ่งซับซ้อน เราจึงทำให้ไม่สามารถใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งหรือชุดความคิดใดความคิดหนึ่งแก้ไขปัญหาได้ ปัญหาของสังคมและเศรษฐกิจก็เหมือนกัน อย่างเรื่อง SDGs เรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม ถามว่าใช้กฎหมายอย่างเดียวได้ไหม รัฐศาสตร์อย่างเดียวได้ไหม เศรษฐศาสตร์อย่างเดียวได้ไหม เทคโนโลยีอย่างเดียวได้ไหม ไม่ได้ มันจึงต้องกลายเป็นหลาย ๆ ศาสตร์ร่วมกัน เพราะว่าโจทย์มันมีความซับซ้อน แก้ทางหนึ่งได้แล้วก็ต้องไปแก้อีกทางหนึ่งด้วยเสมอ”
เศรษฐศาสตร์และความยั่งยืน การเติบโตที่ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน
ความเชื่อที่ว่าปัญหาทางสังคมควรถูกศึกษาและแก้ไขด้วยศาสตร์มากกว่าหนึ่ง ผลักดันให้ รศ. ดร.พีระ เจริญพร ได้พบกับงานที่ขับเคลื่อนด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์และความยั่งยืนอยู่เสมอ และงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับประสบการณ์การทำงานทั้งหมด
พื้นที่ทับซ้อนระหว่างแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และความยั่งยืนนี่ต่างหาก คือสิ่งสำคัญที่ รศ. ดร.พีระ ได้ค้นพบ
“จากประสบการณ์ของผมเอง ผมรู้สึกว่า สมัยก่อนนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าความยั่งยืนเป็นโจทย์ของฝั่งสังคมศาสตร์ด้านอื่น ๆ เพราะเศรษฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดผ่านกลไกตลาด ดังนั้นถ้าจะจัดสรรทรัพยากรเพื่อเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ มันคงจะไปอยู่ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งเรียกว่าเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสรองไปเลย
“แล้วเรื่องของความยั่งยืน สมัยก่อนเวลาเราได้ยินคำนี้เราก็จะมีภาพของ NGO ขึ้นมาทันที เราจะมีภาพจำว่าไม่ต้องไปพูดถึงเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์กับเขา เหมือนว่ามันแยกกันเลยระหว่างความยั่งยืนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะบอกว่า มันเป็น trade off นะถ้าคุณอยากได้การเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณก็ต้องยอมแลกกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง แต่ตอนหลังความเชื่อเรื่องนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะความยั่งยืนมันเป็นสิ่งที่สามารถเอื้อกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้”
“มีคนออกมาพูดว่า ถ้าคุณปล่อยให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดเศรษฐกิจของคุณก็จะถูกถ่วงไว้ด้วย หลายคนที่บอกว่าแนวคิดแบบกระแสหลักไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างบนโลกนี้ได้ นักเศรษฐศาสตร์กระแสรองเหล่านี้ก็เริ่มได้รางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากเดิมที่มันเป็นเรื่องของการใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรื่องของการตลาดการเงินหมดเลย
“การบอกว่ามันมีเครื่องมืออื่นที่นอกเหนือจากกลไกลการตลาดในการจัดสรรทรัพยากร ความยั่งยืนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องได้อย่างเสียอย่าง บนเวทีโนเบล ทำให้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าเราไม่จำเป็นจะต้องทำให้โลกสกปรกเท่านั้นจึงจะร่ำรวยได้ และเราควรนิยามการเติบโตผ่านความรุ่มรวยในด้านอื่น ผ่านการพัฒนาที่มีคุณภาพ ผ่านการพัฒนาด้านสุขภาพ ผ่านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปด้วย โดยไม่ต้องมองเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว และนี่คือการพัฒนาที่ดีกว่าด้วย”
นอกจากนี้ รศ. ดร.พีระ ยังเสริมว่า แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ และจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามกระแสโลก ซึ่งแน่นอนว่าแวดวงวิชาการ สถานศึกษา ก็ย่อมจะต้องเร่งพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลกให้ได้ด้วยเช่นกัน
“แผนพัฒนาประเทศเราแรก ๆ มีแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ จำได้ไหม ตอนหลังเริ่มเราเห็นแล้วว่าเมื่อเราพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวมันกลับมีปัญหาสังคมเกิดขึ้นตามมาด้วย เราก็ดึงเรื่องการพัฒนาสังคมขึ้นมาอยู่ในแผนพัฒนาฯ แต่พอมามองโครงสร้างหลายอย่างในประเทศเรา อย่างรองนายกฝั่งเศรษฐกิจ แล้วเราก็มีรองนายกฝั่งสังคมอีกคนหนึ่ง นี่แสดงว่าคุณกำลังมองให้มันเป็นเรื่อง trade off หรือเปล่า คุณกำลังมองถึงการทำ CSR คือทำไม่ดีกับสังคมและโลกไปก่อน แล้วค่อยมาตามแก้ที่หลังหรือเปล่า
“ในเทรนด์โลก ทุกการพัฒนาต้องมองเรื่องความยั่งยืนไปด้วย เราถึงจะไปด้วยกันได้ เราจะเห็นว่า ทำไม World Bank ต้องพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่เป้าหมาย Millennial Development Goals (MDG) ภายหลังมาก็เป็นเป้าหมาย SDGs ทำไม World Economic Forum ถึงพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมันมีคนขายไอเดียทางด้านนี้มาโดยตลอด เพื่อจะทำให้คนทั้งโลกเปลี่ยนมายด์เซ็ตว่าสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”
“อย่างที่คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อก่อนเราจะถามว่า คุณจะเรียนสาขาเอกอะไร เช่น สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่ตอนหลังเรามีการเปิดวิชาสัมมนาที่เรียกว่าสัมมนากลางขึ้นมาอันหนึ่ง เพื่อบอกว่าโจทย์บางโจทย์มันไม่ใช่สาขาเอกใดเอกหนึ่ง แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อ กระทั่งอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องออกจากพื้นที่เดิมของตัวเองด้วย เพราะโจทย์ในปัจจุบันที่เด็กกำลังเจอ คือโจทย์ข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ทั้งสิ้นเลย มันมีแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเพราะแต่เดิมคุณมุ่งไปกรอบแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง การจะสร้างของใหม่มันจึงยากมากเลย เพราะมันตันหมดแล้ว ตอนนี้องค์ความรู้ใหม่มันคือการร่วมมือกัน การใช้แนวคิดข้ามศาสตร์มันถึงจะเกิดสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเกิดขึ้น เทรนด์ของโลกมันเป็นแบบนี้จริง ๆ”
ผู้คนในงานวิจัยไม่ได้มีแค่นักวิจัยเท่านั้น
นอกเหนือจากการสร้างความรู้ใหม่ ประสบการณ์หนึ่งที่งานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ระหว่างเศรษฐศาสตร์และความยั่งยืนได้มอบให้กับ รศ. ดร.พีระ เจริญพร ก็คือการทำลายความเชื่อหรือ ‘มายาคติ’ เดิม และนั่นกลับกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้งานวิจัยของ รศ. ดร.พีระ เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และตอบโจทย์ของสังคมมากขึ้น
“ผมได้เรียนรู้เรื่องการทำลายมายาคติ เช่น เวลาเราไปทำแผนขับเคลื่อน SDGs ในต่างจังหวัด เรามักคิดอยู่เสมอว่า เมื่อโอกาสมาแล้ว หน่วยงานราชการทำโครงการสนับสนุนไว้ให้แล้ว มีงบประมาณสนับสนุนแล้ว ทำไมคนในพื้นที่ไม่คว้าโอกาสเอาไว้ ไม่เข้าร่วมโครงการ ทำไมเขาไม่ทำอย่างโน้น ทำไมเขาไม่ทำอย่างนี้ แต่นั่นเป็นมุมมองจากคนที่อยู่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้รับความเสี่ยงจริงจากการเปลี่ยนแปลง และไม่เข้าใจว่าคนในพื้นที่แต่ละคนมีเงื่อนไขในการตัดสินใจอย่างไร
“เมื่อได้ไปเจอของจริง ได้พูดคุยกับคนที่อยู่ต่างมุม โดยที่เราเปิดใจกว้าง เราจะเข้าใจเลยว่าอุปสรรคจริง ๆ มันเกิดจากอะไร ไม่ใช่มองจากมุมของเราแล้วตัดสินว่าเขาเป็นคนขี้เกียจหรือไม่มีความรู้ หรือแม้กระทั่งกติกาบางอย่าง เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่เรามองว่ามันขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่พอไปคุยกับคนกำหนดกติกา ได้รับรู้เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบในด้านลบ กติกาที่เราเห็นว่ามันไม่ได้เรื่องก็เป็นเพราะว่ามันต้องไปปิดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งมันอาจจะเป็นความสูญเสียที่สูงกว่าด้วยซ้ำ
“หลายครั้งเวลาเราทำงานเขียนเชิงบูรณาการ สิ่งที่ผมชอบมากคือ เวลาอ่านแล้วเจอที่คนเขียนไว้ว่า นี่คือมายาคตินะ และการค้นพบของเราครั้งนี้ ทำให้เรารู้ว่าเราเข้าใจผิดอะไรไปบ้าง ผมคิดว่าเจ๋งมากเลยนะ บางทีมันเป็นปัญหาแบบเส้นผมบังภูเขาซึ่งเป็นเพราะเรามีความเชื่อบางอย่างฝังใจไว้ แล้วพอเราทำลายความเชื่อเก่าไปได้ เราถึงจะเข้าใจสาเหตุจริง ๆ แล้วหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีได้
“นักวิชาการชอบอ่านงานที่เขียนเป็นข้อ ๆ แต่ถ้าคุณไปทำงานกับองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาจริง ๆ อย่าง UN หรือ World Bank คุณจะเริ่มเจอสิ่งที่เรียกว่า Story Telling คุณจะเจอกรณีศึกษา A กรณีศึกษา B คุณจะเริ่มเห็นว่ามันมีบริบท มีประวัติศาสตร์อย่างไร ผลมันจึงเป็นแบบนี้ เราถึงเข้าใจว่า อ๋อ กลไกการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้มีแค่ข้อเขียนเป็นข้อ ๆ แต่มันมีความเป็นมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเราต้องทำงานด้วยความเข้าใจว่าเขาเป็นมนุษย์ เขาอยู่ในสังคมแบบไหน กติกาในสังคมนั้นเป็นแบบไหน แล้วเขามีข้อจำกัดแบบไหน พอเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา เราจะออกแบบวิธีแก้ปัญหาออกมาได้ตรงกับเขามากขึ้น แล้วเราจะเริ่มเชื่อว่ามันมีทางออกที่เป็นพหุนิยมมากขึ้น”
“ดังนั้นนโยบายเฉพาะกลุ่ม โครงการต้นแบบ หรืองานที่เป็น Sandbox มันจะสมเหตุสมผลมากขึ้น คือเราต้องมีพื้นที่ต้นแบบ แต่เราจะเอาพื้นที่นั้นไปครอบพื้นที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะปัจจัยต่างๆ มันไม่เหมือนกัน อย่างผมทำงานเกี่ยวกับ circular economy ในภาคเหนือ ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีหน่วยงานภาครัฐ มีศูนย์วิชาการที่เข้มแข็ง มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าคุณไปทำในภาคตะวันออก คุณก็อาจจะต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนถ้าคุณไปทำในภาคใต้ คุณก็อาจจะต้องใช้ชุมชนที่มีความเข้มแข็งเป็นจุดขับเคลื่อน จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่ก็จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในงานวิจัยไม่ได้มีแค่นักวิจัย แต่มันรวมถึงคนในชุมชนด้วย และคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยคุณนั่นแหละ คือคนที่จะช่วยคุณหาว่าทางออกของปัญหามันคืออะไร”
ที่ทางและทิศทางของงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้
แม้จะเป็นรูปแบบที่พางานวิชาการไปหาโจทย์ทางสังคมได้มากขึ้น แต่งานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้นักวิจัยรุ่นใหม่เลือกทำงานในรูปแบบนี้น้อยกว่าที่ควร นั่นก็คือเงื่อนไขเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งย่อมหมายถึงความก้าวหน้าและความมั่นคงทางวิชาชีพ โดยเฉพาะกับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
“มันก็มีประเด็นเหมือนกันว่า ในประเทศไทย การวัดผลเชิงวิชาการขึ้นอยู่กับคนอ่าน โจทย์คือแล้วคนอ่านเป็นคนที่คุ้นชินกับงานสมัยใหม่ หรืองานที่เป็นสหวิชาการมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นประเด็นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ อาจารย์รุ่นใหม่ ที่เขาจะต้องเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการให้ได้ภายใน 5-6 ปี ทำงานข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ได้ยาก กติกาในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการมันไม่เอื้อเลย
“คนที่เขียนงานสหวิชาการพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนอายุเยอะหน่อย ส่วนหนึ่งก็คือมีประสบการณ์แล้ว ได้เห็นโลกกว้างแล้วว่าศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมันเอาไม่อยู่ และส่วนหนึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นคนที่หลุดพ้นความกังวลเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว (หัวเราะ) คือไม่ต้องกังวลเรื่องการต่อตำแหน่งทางวิชาการแล้ว
“ดังนั้นถ้าอยากจะทำงานข้ามศาสตร์ ผมอยากแนะนำก็คือ คุณต้องเลือกหัวข้อวิจัยที่การความก้าวหน้าทางวิชาการกับการตอบโจทย์วิจัยไปด้วยกันได้ อย่างแรก คุณอาจจะต้องมองโจทย์ที่มันมีความสำคัญ มีผลกระทบจริง ๆ ศึกษาว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาคุณจะต้องมีสาขาอะไรบ้าง แล้วคุณก็รวมทีมเพื่อทำวิจัยอย่างที่อยากทำ แต่เวลาที่คุณจะใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ คุณก็หยิบเอามุมมองของคุณ ที่ใช้กรอบการทำงานของคุณไปเขียนได้ แม้กระทั่งงานด้าน SDGs เอง มันก็จะมีกรอบใหญ่ที่ให้ทุกคนมาร่วมมือกันได้อยู่แล้ว เราแค่ดึงบางส่วนออกมา สำคัญที่สุดคือคุณต้องเริ่มจากโจทย์ที่มันมีผลกระทบสูง
“อย่างที่สอง ผมมักจะเจอปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลาเราเรียนสูงขึ้นไป เราจะถูกกรอบให้มองโลกที่พุ่งไปในเชิงแหลมคม เพราะการตีพิมพ์มันจะเน้นไปทางนี้ เราก็ต้องบาลานซ์ให้ดีว่าขอบเขตการวิจัยที่เรากำลังพูดถึงอยู่มันมีนัยยะสำคัญกับประเด็นที่เรากำลังขับเคลื่อนด้วยหรือไม่ ถ้ามันจะมีจุดที่เราสามารถเอาเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่ไปประกอบกับโจทย์ที่สำคัญได้ ปัญหานี้ก็จะแก้ไขได้”
แม้จะเกริ่นไว้แต่ต้นว่านี่คือปัญหา แต่ รศ. ดร.พีระ เจริญพร ก็มองเห็นว่าแวดวงวิชาการเริ่มมีตำแหน่งแห่งหนให้งานวิจัยความศาสตร์ข้ามความรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี และทำให้เชื่อได้ว่างานวิจัยสหศาสตร์เช่นนี้จะเป็นเทรนด์ใหม่ในโลกของวิชาการได้ด้วยเช่นกัน
“นักวิจัยบางคนเก่งมากก็คือเขาสามารถจะจับประเด็น แล้วก็มองออกตั้งแต่ต้นว่า จากงานที่ตอบโจทย์หน่วยงาน เขาจะสามารถเลือกบางประเด็นมาต่อยอดทางวิชาการมาตีพิมพ์ได้อย่างไร ในขณะเดียวกันมันก็จะเริ่มมีวารสารทางวิชาการที่เปิดรับงานแบบนี้มากขึ้น แม้จะเป็นงานในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสมการทางเศรษฐมิติ มีแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เสมอไป อาจจะเป็นงานในเชิงนโยบาย หรืองานประยุกต์ ซึ่งมีความข้ามศาสตร์ และมุ่งเน้นที่โจทย์ปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะงานกลุ่มความยั่งยืนและการพัฒนา
“เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มเปิดใจว่า มันยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่แก้ไขปัญหาได้ เราจะไม่ทู่ซี้ว่า เราจะต้องเอากลไกทางการตลาดไปแก้ไขปัญหาทุกอัน หรือว่าจะต้องสมการมาใส่ แน่นอนถ้าคุณทำเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ คุณก็อาจจะต้องมีเครื่องมือบางอย่างเป็นเครื่องมือสำคัญในงานของคุณ แต่ว่าเราก็ต้องหาจุดบาลานซ์ระหว่างความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการกับคุณประโยชน์ของงานวิจัยด้วย
“กติกาของ สกอ. บางช่วงเวลาเคยสร้างปัญหากับการวิจัยข้ามศาสตร์ เช่น ห้ามตีพิมพ์ร่วมกับคนอื่นเกินสองคน จะต้องตีพิมพ์ในเจอร์นัลที่เป็นกระแสหลักเท่านั้น ปัจจุบันนี้มันเริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น งานวิจัยเชิงประยุกต์ งานวิจัยเชิงขับเคลื่อนเริ่มถูกนับไปด้วยตามกติกาใหม่ ผมกำลังจะบอกว่า ถ้าคุณจะทำงานข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องตีความงานวิชาการของคุณด้วย ว่าคุณกำลังนิยามคุณค่ามันด้วยอะไร”
“Champion Researcher” เป็นคอลัมน์สัมภาษณ์ที่ชวนนักวิจัยบอกเล่าประสบการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ และข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจหรืออยากทำงานวิจัยในลักษณะทำนองเดียวกัน
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– TU SDG Seminars | เจาะลึกงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรม และแนวทางการลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
เสาวลักษณ์ เชื้อคำ – เรียบเรียง
กนกพร บุญเลิศ – พิสูจน์อักษร
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ