หัวใจสำคัญของสถาปัตยกรรมยุคใหม่อย่างหนึ่งที่กำลังทรงพลังและมีความหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ‘การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล’ หรือ Universal Design ซึ่งเป็นการออกแบบที่เน้นให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเงื่อนไข สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
เมื่อยึดเอาความเท่าเทียมมาเป็นหลักสำคัญ Universal Design จึงเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้อาศัยองค์ความรู้ด้านงานออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาศัยกระบวนการการศึกษาชุมชน การมีส่วนร่วม ไปจนถึงการร่วมมือกับแหล่งความรู้อื่น ๆ อย่างสหวิชาด้วย
เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของงานด้านอื่น ๆ ใน Universal Design เราจึงขอชวนมาพูดคุยกับ รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายการ ขจัดความยากจน (SDG1) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม (SDG10) และเมืองยั่งยืน (SDG11) ผ่านกระบวนการชุมชนและ Universal Design เพื่อให้งานออกแบบนั้นเป็นการออกแบบเพื่อ ‘คนทั้งมวล’ ที่แท้จริง
Universal Design การออกแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“โจทย์ใหญ่ของเราคือการออกแบบให้มนุษย์สามารถเข้าไปใช้งาน ไปรู้สึก ไปรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้น ๆ พอเราทำงานกับมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่สาธารณะ จะพบว่า เราไม่สามารถทำตามความต้องการของทุกคนได้ 100% แต่จะทิ้งใครไปก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องมีกระบวนการในการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน
“ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ และการออกแบบอาคารทั่วไปมากขึ้น เช่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อกลุ่มคนเร่ร่อน กลุ่มคนไร้บ้าน การออกแบบสำหรับผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย การออกแบบที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวช ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายหลักของเรามากขึ้น มาตรฐานการออกแบบพื้นที่แบบเดิมจึงไม่ครอบคลุมอีกต่อไป ผมเลยได้รู้จักกับแนวคิดของ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล
“แนวคิดนี้พูดถึงกระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เข้าใจข้อจำกัด เข้าใจเงื่อนไขของคนทุกกลุ่ม ผมเลยเริ่มเอากระบวนการการมีส่วนร่วมมาจับ โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก
“ตัวอย่างเช่น การจะปรับปรุงทางเท้าเพื่อให้คนสามารถเดินได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่แค่คนเดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าของพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ สิ่งที่อยู่ข้างบน เช่น เสาไฟฟ้า ตู้ไปรษณีย์ และสิ่งที่อยู่ข้างล่างอย่างระบบปะปา ดังนั้น Universal Design จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้เราหาจุดที่ลงตัวที่สุด ผ่านกระบวนการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมและมีการวิจัยอย่างเป็นระบบ”
การวิจัยข้ามศาสตร์ งานวิจัยที่ไม่ได้อยู่แค่หน้ากระดาษ แต่เป็นการรับฟังเสียงของทุกคนในพื้นที่
เมื่อพูดถึงกระบวนการวิจัย ภาพจำของคนทั่วไปคือการศึกษาบนหน้ากระดาษ แล้วแปรผลออกมาเป็นตัวเลขและข้อมูลเท่านั้น หากแต่การวิจัยในงาน Universal Design กลับมีความสำคัญบทบาทครอบคลุมกว่านั้นมาก
“หากเราจะออกแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ ตามหลักการสากลกล่าวไว้ว่า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การท่องเที่ยวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทุกคนสามารถเข้าไปดูพระพุทธรูปในโบสถ์โบราณนี้ได้ แต่ทว่าการทำทางลาดเข้าโบสถ์อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตรงนั้นเป็นเขตอนุรักษ์และเป็นโบราณสถาน ถ้าเป็นกรณีนี้เราควรทำอย่างไร
“เราต้องมาศึกษากันและกันก่อน แนวคิดและหลักการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร แนวคิดและหลักการของการดูแลสิทธิพื้นฐานคนพิการเป็นอย่างไร พูดคุยให้ฝั่งอนุรักษ์โบราณสถานเข้าใจคนที่มีข้อจำกัด และให้คนที่มีข้อจำกัดเข้าใจพื้นที่ด้วย ผ่านกระบวนการทดลอง ทดสอบ หาข้อพิสูจน์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความลงตัวกับคนทุกกลุ่มมากที่สุด ก็เลยเป็นที่มาของงานวิจัยในหลายระดับ ตั้งแต่รายละเอียดไปจนถึงนโยบาย
“เพราะฉะนั้น จากเดิมที่เราเคยยึดมาตรฐานการออกแบบอย่างหนึ่ง กลายเป็นเราต้องปรับมาตรฐานหรือทฤษฎีเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทของสังคมและพื้นที่ที่แตกต่างกัน นำเสนอผ่านข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งความน่าเชื่อถือของงานออกแบบนั้นมาจากงานวิจัยที่รับฟังเสียงของคนทุกฝ่าย นั่นก็คืองานวิจัยแบบข้ามศาสตร์
“สมมติว่าเราจะออกแบบให้กลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ เราต้องจำแนกให้ได้ก่อนว่ากลุ่มคนไร้บ้านมีกี่ประเภท แน่นอนว่าความรู้ด้านสถาปัตยกรรมไม่สามารถจำแนกได้ เราจะต้องร่วมมือกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่มีความรู้และให้ข้อมูลในส่วนนี้แก่เรา เช่น กลุ่มคนไร้บ้านแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการจิตเภท และกลุ่มที่ไม่มีอาการจิตเภทแต่ไม่มีบ้าน
“ข้อมูลส่วนนี้ทำให้เราสามารถจำแนกได้ กลุ่มที่อยากมีบ้านแต่ไม่มีบ้าน เลยไปอยู่พื้นที่สาธารณะ เราจะพูดคุยกับองค์กรด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนกลุ่มที่ออกมาจากบ้านเพราะปัญหาทางจิต ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ จึงต้องออกมาอยู่พื้นที่ข้างนอก กลุ่มนี้เราต้องปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้เราหาความต้องการของผู้ใช้ และนำข้อมูลตรงนี้ไปออกแบบต่อ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่แรก เราออกแบบเพื่อแก้ปัญหาหรือความท้าทาย โดยนำเสนอรูปแบบที่หลากหลาย มีทางออกให้เลือก ไม่บังคับว่าจะต้องเป็นแบบนี้และมีเพียงหนึ่งแบบเท่านั้น แล้วให้กลุ่มเป้าหมายช่วยเราตัดสินใจ จากนั้นจึงไปออกแบบให้เกิดขึ้นจริง และประเมินผล การทำงานจะวนไปแบบนี้ การประเมินผลอาจจะทำให้เห็นว่ามีบางอย่างที่ต้องปรับในงานนั้นหรือในงานอื่นถัดไป ซึ่งเป็นการทำงานแบบสื่อสารสองทาง (two-way communication)”
เสน่ห์ของงานวิจัยที่เปิดรับทั้งแนวคิดในการออกแบบและความเท่าเทียม
“เวลาหาทางออกใหม่ได้ หรือแก้ไขปัญหาได้ทันกระแสโลกมากขึ้น มันเป็นความภาคภูมิใจนะ”
รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ เล่าถึงงานออกแบบพื้นที่เฉพาะกลุ่มซึ่งซับซ้อนและเรียกร้องการศึกษาจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ท้าทายและทำให้ผู้วิจัยทำลายกรอบความคิดความเชื่อเดิมลงได้มากที่สุดด้วย
“ช่วงโควิดที่ผ่านมา ผมได้ทำกรณีศึกษาของลุงคนหนึ่งที่เมื่อก่อนเป็นนักมวย แต่พอติดเหล้าก็ทำงานไม่ได้ ลุงมีบ้านที่เสื่อมโทรมมาก แบบที่ผนังหลังคาไม่มี พอเขาออกไปทำงานรับจ้างรายวันก็จะรู้สึกกังวล ถ้าฝนตกก็จะเครียดว่าของในบ้านจะเป็นยังไง พอเครียดก็ไปกินเหล้า พอกินเหล้าก็ทำงานไม่ได้เต็มที่ พอทำงานได้ไม่เต็มที่ก็ไม่มีเงิน พอไม่มีเงินก็ไม่สามารถจะดูแลสุขภาพตัวเองได้ กรณีศึกษานี้เราปรึกษากันแบบสหวิชาการว่า มาลองเริ่มจากการปรับสภาพแวดล้อมที่ดีให้เขาดูไหม
“ปรากฎว่าพอปรับบ้านให้เขา เขาก็มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น มีความมั่นใจกับบ้านหลังนี้ เวลาออกไปทำงานก็ไม่ต้องรู้สึกกังวล ฝนตกก็ไม่ต้องรีบกลับมาบ้าน พอใจสบายขึ้น กายมันก็สบายตามไปด้วย พอร่างกายแข็งแรงขึ้นก็ทำงานได้ดีขึ้น เรื่องเศรษฐกิจก็ดีตามไปด้วย เขาสามารถเอากระสอบทรายมาแขวนต้นไม้หน้าบ้านเขาได้ เด็ก ๆ ก็มาให้เขาช่วยสอนมวยเบื้องต้น จากคนติดเหล้าจนได้รับคุณค่าในตัวเองกลับมา ทั้งหมดนี้เกิดจากที่เราเริ่มปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับความเป็นผู้สูงอายุและความยากไร้ของเขา เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เรารู้สึกว่าเราไปถูกทาง
“ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา จะพบว่า เราไม่มีแนวทางการออกแบบโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการเลย โจทย์ใหม่ที่เข้ามาท้าทาย เช่น เด็กพิการ ผู้ป่วยจิตเวช หากกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ถูกกักตัว พวกเขาควรจะได้อยู่ในพื้นที่แบบไหน หมอ พยาบาล คนดูแล ต้องการพื้นที่แบบไหน ตอนนั้นเราต้องศึกษาตั้งแต่พื้นฐาน ทั้งการทบทวนความรู้เรื่องโรค สัมภาษณ์คนที่ติดเชื้อไปแล้ว สัมภาษณ์หมอ แล้วตกตะกอนชุดความรู้ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
“องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาครั้งนั้น กลายเป็นทางออกที่ถูกใช้แก้ไขปัญหาสังคม บนบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน ในเงื่อนไขเวลาที่ต่างกัน นั่นแหละคือความสนุกของการค้นพบสิ่งใหม่อยู่เรื่อย ๆ จากโจทย์ที่ท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา
“Universal Design สอนเราอย่างหนึ่งว่า เราต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราออกแบบกระบวนการวิจัย บางอย่างเป็นสิ่งที่ต้องทำการบ้านไว้ล่วงหน้า แต่บางอย่างเป็นสิ่งที่ปรับไปตามหน้างาน ตามโจทย์ที่เราเจอ เรามีกระบวนการได้แต่ต้องไม่มีธง ต้องไม่ตัดสินว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ สิ่งสำคัญคือการสร้างแนวทางในการหาคำตอบ แต่ไม่สร้างกรอบที่แข็งเกินไป และเราต้องยอมรับเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้เอาไว้ก่อน แล้วมันจะเป็นไปได้เอง”
เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร – ความท้าทายของงานออกแบบที่มีพื้นที่ให้ความเป็นมนุษย์
สถาปนิกเป็นวิชาชีพที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงาน ทว่าประสบการณ์ก็อาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาปิดกั้นความรู้บางอย่างได้เช่นกัน การคิดว่าผลงานที่ดีของตัวเองคือพื้นที่ที่ดีของทุกคน เป็นกำแพงแรกที่สถาปนิกต้องทำลายให้ได้ เพื่อจะสร้างงานที่เป็นของคนทั้งมวลขึ้น
“สมัยเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ เรามักจะคิดว่าสถาปนิกออกแบบได้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ เพราะเราเรียนมาให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจในการออกแบบ แต่ความมั่นใจที่ติดตัวเรามาหากมีเยอะเกินไปก็กลายเป็นความทะนง พอเราออกแบบไป มีบางงานที่คนไม่ไปใช้ มันไม่ถูกกับจริตของย่านนั้น ไม่ถูกใจสังคมนั้น เลยเป็นบทเรียนว่าอย่าคิดเองว่าเราทำแล้วจะถูกใจคนทุกคน
“ในการทำงานนี้ สิ่งแรกคือต้องเทน้ำออกจากแก้วก่อน เปิดใจให้กว้าง ถ้าฉันต้องออกแบบโรงพยาบาล ฉันไม่รู้เรื่องของใครบ้าง ห้องปฏิบัติการ ห้องผ่าตัด เป็นอย่างไร เปิดหนังสือดูพอหรือไม่ หากยังไม่พอก็ต้องไปคุยกับแพทย์ พยาบาล แม่บ้านที่อยู่ในโรงพยาบาล คุยกับคนไข้และผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เราเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วเราก็จะสามารถออกแบบได้สอดคล้องกับความต้องการของเขามากขึ้น
“สิ่งที่ยากที่สุดของคนทำงานสายนี้คือ เรามักจะหาไม่เจอว่าเรายังไม่รู้อะไร ต้องมีคนมาช่วยเติม ทว่าคนที่จะมาเติมแก้วของเราจะรินน้ำสีแดงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีน้ำสีฟ้า สีเขียว สีอื่น ๆ มาช่วยผสมด้วย หรือบางครั้งเราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าควรเติมน้ำอะไรในแก้ว เพราะฉะนั้นชุดความรู้ที่เราจะต้องทบทวนเลยสำคัญ”
กฎหมาย การมีส่วนร่วม เศรษฐกิจผู้สูงวัย และการสื่อสาร : 4 ปัจจัยที่ขับเคลื่อน Universal Design ได้จริง
“ผมปรับบ้าน รื้อกำแพง ทุบโน่นนั่นนี่ ให้คนเข้าถึงสถานที่ได้ง่ายขึ้นมาเยอะมาก แต่สิ่งที่ทุบยากและปรับยากที่สุดก็คือปรับทัศนคติของคน”
แม้การปรับพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จะมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต แต่ผู้ออกแบบมักต้องเจอกับปัญหาอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ก็คือ เจ้าของพื้นที่ไม่ได้มองเห็นความจำเป็นมากพอที่จะยอมใช้จ่ายกับเรื่องนี้
สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือ การโน้มน้าวให้เจ้าของพื้นที่เห็นความสำคัญ และผลักดันให้เจ้าของพื้นที่เข้าถึงแหล่งงบประมาณได้ เป็นขอบเขตของงานสถาปนิกเช่นกัน โดยเฉพาะกับพื้นที่สาธารณะที่เมื่อได้รับการปรับปรุงจะส่งผลกระทบเชิงบวกกับคนจำนวนมาก
“วิธีการขับเคลื่อนในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องพยายามทำคือ ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นพวกเขา เราจึงต้องใส่หมวกแต่ละใบที่ไม่เหมือนกันในการเข้าหาคนเหล่านั้น
“หากเป็นภาคราชการ เราใช้กฎหมายเป็นตัวนำแล้วค่อยพูดถึงประโยชน์ เช่น ถ้าปรับพื้นที่ตรงนี้ นอกจากหน่วยงานจะไม่โดนสอบด้วยเรื่องการเลือกปฏิบัติแล้ว เรามีคณะกรรมการตรวจและให้รางวัลทุกปี เราจะคุยให้เขาเห็นว่ามันมีความจำเป็นต่ออาชีพเขา ต่อหน้าที่การของเขา ต่อชุมชนที่เขาอยู่ ต่อคนที่ไปใช้บริการ ถ้าทำแล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไร
“ในบริบทชุมชน เราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า แรงกดดันทางบวก (positive pressure) ตัวอย่างเช่น ในชุมชนหนึ่งมีผู้สูงอายุที่เคยไปวัดได้ วันหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุจนต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ (wheelchair) ทำให้ไม่สามารถไปวัดได้อีก เนื่องจากพื้นที่วัดไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับผู้ใช้รถเข็น แล้ววัดเปรียบเสมือนพื้นที่ทางจิตใจ พอไม่ได้ไปเจอคน ไม่ได้ไปไหว้พระ ไม่ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้จิตใจยิ่งทรุดลง ร่างกายก็ทรุดตามไปด้วย
“สิ่งที่เราทำคือ กระบวนการประชาคม ทำให้ชุมชนเห็นว่าควรจะต้องปรับทางลาดขึ้นโบสถ์ ทำห้องน้ำที่ผู้ใช้รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ ทำทางลาดเข้าศาลาการเปรียญ ทำที่จอดรถสำหรับผู้ใช้รถเข็น ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนเสนอให้สร้างลิฟต์ขึ้นไปถึงส่วนเมรุด้วย เพราะผู้สูงอายุเห็นว่าเป็นการส่งคนที่รักเป็นครั้งสุดท้าย ไม่อยากนั่งมองอยู่ข้างล่าง ซึ่งตรงนี้ทำให้ชาวบ้านได้ช่วยเสนอแนวคิดดี ๆ มากมาย เนื่องจากกระบวนการชุมชนทำให้เห็นว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไร
“สำหรับเรื่องงบประมาณ เราประสานงานกับภาคเอกชนและองค์กรของรัฐ แต่ยังขาดเงินอีกจำนวน 1-2 แสนบาท ผมก็เสนอว่าให้เทศบาลตั้งงบปีหน้าไว้ได้ไหม แต่ประธานชมรมผู้สูงอายุยกมือถามว่า อาจารย์จะใช้ตอนไหน ผมก็บอกว่า เร็วที่สุดก็ดีจะได้ทำต่อเนื่องกันเลย เขาขอเวลาหนึ่งเดือนไปทำผ้าป่ามาให้ ได้เยอะว่าหนึ่งแสนอีก
“กลายเป็นว่า ถ้าเราไปให้เขาปรับเลย เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำ แต่ถ้าเราให้เขามีส่วนร่วม ให้เขาเห็นว่าในอนาคตเขาก็อาจจะไม่ได้มาวัดเหมือนกัน มันทำให้การปรับพื้นที่เกิดขึ้นได้ แล้วทุกคนก็ได้ร่วมออกเงินคนละ 10 บาท 20 บาท ใครมีเยอะออกเยอะ ใครมีน้อยออกน้อย ส่วนเอกชนก็ได้ชื่อ ในกรณีนี้คือเราต้องหาจุดที่ได้ประโยชน์ของทุกฝ่ายให้เจอ
“เงื่อนไขของการได้งบประมาณมา มีทั้งส่วนของชุมชนที่เห็นความสำคัญและทำให้เกิดขึ้น และส่วนของภาครัฐที่ช่วยเหลือ เชื่อหรือไม่ว่าแม้จะทำงานออกแบบ แต่เรามีรายชื่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถสนับสนุนงบประมาณตรงนี้ได้ ซึ่งในประเทศไทยมีเกือบ 20 หน่วยงานที่สามารถช่วยดูแลการปรับสภาพแวดล้อม ทำให้เรื่องงบประมาณคลี่คลายไปได้ในหลายพื้นที่ ในฐานะนักวิจัย เราต้องรวมรวมชุดความรู้ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่น ชุมชน และคนในพื้นที่ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญก่อน เรื่องเงินค่อยว่ากัน
“ส่วนในภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ เราใช้เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ silver economy เข้ามาช่วย แนวคิดนี้เป็นการตลาดที่มองเห็นโอกาสจากการที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ห้างร้านที่เปิดรับคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นเช่น หากผู้สูงอายุเดินทางสะดวกก็มีโอกาสที่จะไปอีก ไปซ้ำ และซื้อของมากกว่าหนึ่งชิ้น ข้อมูลเหล่านี้มีงานวิจัยรองรับหมด ภาคเอกชนจึงควรมองให้เห็นโอกาสนี้ ลองคิดในแง่ร้าย หากผู้สูงอายุหกล้มหรือเดินชนในห้างแค่ครั้งเดียว ความภักดีต่อตราสินค้า (brand loyalty) อาจจะหายไปหมดเลย เราพยายามสื่อสารโดยมองว่าหากเราเป็นเจ้าของธุรกิจ เราจะเห็นความสำคัญในเรื่องใดบ้าง กับคนที่มีชุดความเชื่อแบบหนึ่ง เราต้องโอนอ่อนแค่ไหนเพื่อให้เขาเปิดใจฟังเราก่อน เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครชอบหรอกเวลามีคนมาบอกว่าตัวเขาผิด นึกออกไหมครับ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปรับโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ซึ่งแม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดี แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น โจทย์สำคัญของสังคมไทยคือการผลักดันให้ Universal Design เข้าไปอยู่ในพิมพ์เขียวของงานออกแบบตั้งแต่ก่อนก่อสร้างต่างหาก
“อันที่จริง กฎหมายเรามีแล้ว ข้อกำหนดเรามีแล้ว แต่ว่าบทลงโทษยังไม่มี ถึงมีก็ต้องตั้งฟ้อง เพราะฉะนั้นเราจะปรับชุดความคิดของคนที่มีบทบาทรับผิดชอบตรงนี้ได้อย่างไร อันนี้สำคัญที่สุด
“นอกจากการขับเคลื่อนผ่านบริบทของแต่ละองค์กรอย่างที่พูดมาแล้ว ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยปรับความคิดของผู้คนได้มากขึ้นก็คืองานสื่อสารมวลชน ในอดีตหากเราทำหนังสักเรื่องหนึ่ง ฉากที่มีผู้สูงอายุไปทำงาน จะมีคนมาคอยพยุงใช่ไหมครับ แต่เราไม่เคยมีพระเอกที่นั่งรถเข็น เปิดประตูลงมาจากรถลัมโบกินีที่หน้าออฟฟิศของตัวเอง ขึ้นทางลาดเองได้อย่างดูดีโดยไม่ต้องมีใครแบกใครหาม แล้วขึ้นลิฟต์ต่อได้เองจนถึงห้องทำงานเลย
“ปัจจุบันนี้ละครชุดหลายเรื่องเปลี่ยนไปแล้ว หรือแม้แต่กลุ่มคนพิการที่ออกมามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) จากกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะตอนนี้ที่สื่อสารมวลชนไม่ได้อยู่แค่ในโทรทัศน์ช่องหลักแล้ว ความคิดของผู้ออกแบบเองต้องใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำของสภาพแวดล้อมที่ดี กลางน้ำก็ต้องสร้างให้ดี ปลายน้ำก็ต้องดูแลบำรุงรักษาให้ดี เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพยายามสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องให้มากขึ้น
“หลายคนคิดว่าเวลาเห็นผู้พิการต้องรีบวิ่งโร่เข้าไปช่วย ไม่เลย หากคุณเห็นคนพิการตาบอดกำลังจะข้ามถนน คุณแค่ต้องเห็นความสำคัญของทางม้าลายที่มีเสียง มีวิธีชะลอความเร็วรถ มีการนำทางสำหรับคนตาบอด เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องเป็นภาระใคร เขาจะภูมิใจในความเป็นคนธรรมดาของเขา และเราก็จะใช้ชีวิตร่วมกับเขาได้แบบไม่ต้องพะวงว่าเขาจะเป็นอะไรหรือเปล่า เขาจะเครียดหรือเปล่า แล้วเราจะเป็นเพื่อนกันได้มากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่มันดีขึ้นนี่แหละ”
“Champion Researcher” เป็นคอลัมน์สัมภาษณ์ที่ชวนนักวิจัยบอกเล่าประสบการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ และข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจหรืออยากทำงานวิจัยในลักษณะทำนองเดียวกัน
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– TU SDG Seminars | เจาะลึกแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาและความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบาง – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
เสาวลักษณ์ เชื้อคำ – เรียบเรียง
กนกพร บุญเลิศ – พิสูจน์อักษร
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ