ไม่มีใครปฏิเสธว่านักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ ต่างทุ่มเทเรี่ยวแรงให้กับเรื่องที่พวกเขาสนใจ และมุ่งมั่นที่จะศึกษาจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล แต่นั่นก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงตามโลก โดยเฉพาะคนที่เราจะพูดคุยในวันนี้
“เราไม่ควรฉาบฉวยกระโดดไปกระโดดมา จนไม่ได้จับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนมีความเชี่ยวชาญ เพราะธรรมชาตินักวิจัยเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องค้นคว้าเพื่อให้ได้คำตอบเชิงลึก ถึงต้องจับเรื่องนั้นนานหลายปี แต่ก็ไม่ใช่อยู่ในกรอบด้านเดียวนั้น จนไม่ตามโลกใหม่หรือไม่บูรณาการ”
ด้วยสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แถมยังไม่เคยละทิ้งความสนใจเศรษฐศาสตร์ ถึงทำให้ รองศาสตราจารย์. ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ ตัดสินใจรับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ยังมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จึงทำให้งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในไทย และระดับนานาชาติ ล้วนผสมผสานศาสตร์ความรู้ของสองศาสตร์นี้อย่างลงตัว
มาร่วมกันเปิดมุมมองการวิจัยข้ามศาสตร์ ผ่านบทสนทนาชีวิต และตัวอย่างผลงานของ รศ. ดร.ณัฐพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม
ทั้งมาพร้อมทัศนคติการเรียนรู้ ที่ว่า “ทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องสนุก” เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้นกันนะ
โอกาสมาในวันที่พร้อมจะคว้าไว้
‘ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน GDP…’ อาจเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ปรากฏหากต้องนึกถึงเศรษฐศาสตร์ ด้วยภูมิหลังของการเป็นวิศวกร อาจารย์ณัฐพงษ์ จึงเล็งเห็นถึงสิ่งที่ยังขาดหายในศาสตร์ดังกล่าว นั่นคือ เศรษฐศาสตร์กับความเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ทางกายภาพ ถึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนทั่วไปจะมองว่า เศรษฐศาสตร์มักจะจินตนาการเพียงสิ่งที่ดูจับต้องไม่ได้ไปเสียหมด
แต่ช่องว่างเช่นนี้เอง ล้วนเป็นโอกาสที่นักวิจัยต่างตามหา แต่ก็ใช่ว่าใครก็จะคว้าไว้ได้ หากขาดการเตรียมตัวพร้อม ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับอาจารย์ณัฐพงษ์เลย
จากพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมที่เป็นจุดแข็ง ทำให้การทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ ประกอบกับเครือข่ายเพื่อนฝูงที่พร้อมสนับสนุนตลอดการทำงานกัน นั้นถึงกลายเป็นความพร้อมที่เขาสะสมผ่านประสบการณ์ ทั้งในช่วงชีวิตการเล่าเรียนตลอดจนการทำงาน
“ตัวโมเดลเดิมที่มี ให้คำตอบแต่เป็นตัวเลขการเงิน แต่เราอยากเปลี่ยนมามองด้าน ที่ต้องหาคำตอบเป็นกายภาพให้ได้ เลยสนใจการวิจัยข้ามศาสตร์”
อาจารย์ณัฐพงษ์ ตั้งต้นประเด็นที่ไม่โดดไปจากความเชี่ยวชาญ ด้วยคำถามว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เติบโตนั้นจะส่งผลเชิงกายภาพอย่างไร เช่นจะให้ที่ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนกี่ไร่ ต้องใช้น้ำกี่ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้พลังงานเท่าใด ซึ่งในการได้มาซึ่งคำตอบนั้น ต้องอาศัยความรู้นอกเหนือความเชี่ยวชาญของเขาเป็นอย่างมาก
“เรื่องพวกนี้ถ้าจะทำต้องเรียนหมดเลย เราเลยต้องไปปวารณาตัวขอเป็นลูกศิษย์ให้คนอื่นสอน อย่างเช่น ทรัพยากรน้ำแบ่งเป็นกี่ประเภท และยังแยกย่อยเป็นประเภทของน้ำดีแต่แบบและประเภทของน้ำเสียอีก เรื่องพวกนี้ไม่มีทางที่เราจะเรียนรู้เองได้เลย”
แล้วทำไมเราไม่ปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นทำหน้าที่นี้ไปล่ะ? “เราชอบไปยุ่งเรื่องคนอื่น” อาจารย์ ณัฐพงษ์ กล่าวอย่างติดตลก แต่นั่นก็สะท้อนมุมมองของการอยากเรียนรู้
ตามที่เราทราบกันว่า นโยบายรัฐจำนวนมากถูกกำหนดด้วยทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในขณะที่ GDP เติบโตขึ้น และต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ นั่นถึงเป็นเหตุผลให้เขายิ่งสนใจงานวิจัยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ “SDGs” ตัวอย่างการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่าตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ดีทีเดียว
ทำความเข้าใจเศรษฐกิจฐานรากผ่านดาวเทียม
นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษา อาจารย์ณัฐพงษ์ เล่าว่า ได้ร่วมทำงานกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) มาตลอด โดยปัญหาสำคัญของประเทศแถบภูมิภาคเอเชียนั่นคือข้อจำกัดของข้อมูล โดยทุกประเทศประสบปัญหาในการที่จะส่งคนลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งในแต่ละครั้งยุ่งยากวุ่นวาย ทั้งยังใช้เงินมหาศาล ด้วยปัจจัยเรื่องภูมิศาสตร์ และขนาดของพื้นที่
ในขณะที่ประเทศไทยยังพอมีจุดแข็งของฐานข้อมูลเดิม ที่ยังมีการเก็บอย่างเป็นระบบ และสามารถใช้ร่วมกับข้อมูลใหม่ ๆ เช่น ข้อมูลดาวเทียมได้ดี นั่นจึงทำให้การใช้ข้อมูลดาวเทียมติดตามดูการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จึงดูเป็นเรื่องไม่เกินจริง และทำได้ต่อเนื่อง
“ผมพอรู้เรื่องดาวเทียมมาจากพื้นฐานที่จบวิศวะมาก่อน แต่ก็ต้องมาอัปเดตความรู้ ตอนนี้ความละเอียดของดาวเทียมสูงมาก ดังนั้น ข้อมูลเข่นการส่งออกรถที่ประเทศไทยผลิต สามารถประมาณค่าได้จาก จำนวนรถรอส่งออกที่จอดอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสามารถนับได้จากดาวเทียม เพราะภาพดาวเทียมปัจจุบันความละเอียด 30 ซม.”
“ปัจจุบันข้อมูลดาวเทียม ช่วยให้เราติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่ต้องส่งคนลงพื้นที่ซึ่งใช้เงินเยอะ ช่วงโควิดเป็นบทพิสูจน์ว่าข้อมูลบางช่วงขาดตอน เพราะคนลงพื้นที่ไม่ได้ แต่ยังสามารถติดตามภาวะเศรษฐกิจได้จากข้อมูลดาวเทียม”
“งานวิจัยของผมหลัก ๆ คือเศรษฐศาสตร์ ที่เอาความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามาเชื่อม เพื่อให้ได้คำตอบในเชิงกายภาพ ซึ่งตรงกับงานวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs และจากการใช้ข้อมูลดาวเทียมยังสามารถเชื่อมโยงเอาความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น ภูมิศาสตร์ รวมถึงประวัติศาสตร์ เข้ามาได้มากขึ้น”
อาจารย์ณัฐพงษ์ เล่าว่า ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจในระดับอำเภอ หรือตำบล นับว่ามีอย่างจำกัดมาก ทั้งที่การวางแผนเศรษฐกิจยิ่งสามารถลงลึกได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานจริง “สมมติเอาลูกดอกปาแบบสุ่มลงไปปักบนแผนที่ประเทศไทย โดนอำเภอไหนแล้วให้คิดไว ๆ ว่าอยากให้ประชากรในอำเภอนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจะต้องทำยังไง ไม่มีคำตอบนะ”
เป็นเหตุให้งานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบัน เขาจึงให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลหน่วยต่าง ๆ ของสังคม อีกทั้งลดการพึ่งพากำลังคนสำรวจภาคพื้น แล้วใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล จนสามารถพยากรณ์ GDP รายจังหวัดได้แม่นยำถึง 97% แล้ว “เรากำลังลงลึกถึงถนนแต่ละเส้น ว่าสร้างความเจริญให้พื้นที่รอบ ๆ แค่ไหน ไม่หยุดแค่ระดับจังหวัด หรืออำเภอ”
เมื่อเป้าหมายที่วางไว้เพิ่มขึ้น การทำการบ้านจึงเพิ่มขึ้นตาม อย่างที่อาจารย์ณัฐพงษ์ ไม่สามารถปฏิเสธความรู้ทางภูมิศาสตร์ไปได้
ยกตัวอย่างธรรมชาติของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงมีพื้นที่นาล้อมรอบ ไม่ใช่ตามความเข้าใจคนทั่วไปว่าทุกคนมีที่นา 20 ไร่ แล้วค่อยปลูกบ้านบนที่นา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลดาวเทียม “เขาอยู่กันแบบนี้เพราะระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพที่สุด สำหรับหน่วยเล็กที่สุดของโครงสร้างเศรษฐกิจอีสาน คือหมู่บ้านที่มีบ้านราว 20 หลัง ที่พอดีกับการมีโรงเรียน วัด และกิจกรรมชุมชน”
“ความเข้าใจแค่เศรษฐศาสตร์ เราอธิบายไม่ได้ต้องจับเทคโนโลยี ภูมิศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มาประยุกต์ด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน คือ ระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สุดและมีประสิทธิภาพสำหรับการทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ว่าในอีกมุม ก็ทำให้โอกาสทางอาชีพและโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมมีข้อจำกัดเช่นกัน” อาจารย์ณัฐพงษ์ย้ำ
เปิดข้อแนะนำถึงนักวิจัยข้ามศาสตร์
นอกจากบทบาทนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนในรั้วมหาวิทยาลัย อาจารย์ณัฐพงษ์ อดแสดงความเห็นไม่ได้ว่า การวิจัยข้ามศาสตร์ย่อมเกิดจากวางพื้นฐานในระบบการศึกษาให้สอดคล้องกัน ซึ่งยังเป็นเรื่องท้าทายฝีมือผู้บริหารองค์กร
“มหาวิทยาลัย ระดับ TOP ของโลกส่วนใหญ่ เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก เคร่งครัดทางวิชาการและการวิจัยมาก กลับเป็นว่า ในระดับปริญญาตรีไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ‘เขาให้เด็กเรียนอะไรก็ได้’ นักศึกษามีสิทธิที่จะเรียนข้ามสาย ชัดเจนสุดคือการไม่มีคณะตั้งแต่แรก เข้าไปเรียนก่อน แล้วค่อยไปเลือกวิชาเอก แถมยังมีสิทธิเรียนสองหลักสูตรพร้อมกัน”
ข้อดีของประเด็นนี้ คือการฝึกฝนให้ผู้เรียนมองโลกในหลายมิติตั้งแต่ต้น เราถึงได้มีโอกาสเห็นไอเดียบ้าคลั่งจากอีลอน มัสก์ ชายที่เรียนจบทั้งฟิสิกส์และการเงิน อาจารย์ณัฐพงษ์ยกตัวอย่าง
กลับมาที่ข้อแนะนำกันบ้าง อาจารย์ณัฐพงษ์ ระบุถึง 3 ข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยที่น่าสนใจ คือ
- หา research gap ที่ยังไม่มีใครทำ แล้วบูรณาการกับศาสตร์ต่าง ๆ
- ห้ามฉาบฉวยเด็ดขาด เกาะติดอยู่กับเรื่องนั้นจนมีความเชี่ยวชาญ
- พร้อมหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา
การเตรียมตัวตามแนวทางนี้ ต่อยอดถึงครั้งที่อาจารย์ณัฐพงษ์ สนใจวิจัยประเด็นเกษตรกับการใช้น้ำ เขาถึงขั้นต้องขอเรียนวิชาการเติบโตของพืช (crop phenology) จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเลยทีเดียว เพื่อให้สามารถมองเห็นข้อจำกัดของเรื่องดังกล่าว “ถ้านักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ปลูกข้าวไม่ได้คุณก็สลับไปปลูกพืชอื่นที่สร้างรายได้มากกว่า เช่น ยาง หรือปาล์มแทนสิ ซึ่งเป็นการแค่เอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปอธิบาย แต่อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรเขาได้ยินคงคัดค้าน เพราะในทางปฏิบัติ ไม่สามารถสลับพืชที่เพาะปลูกได้โดยง่าย เพราะมีข้อจำกัดมากในเชิงกายภาพ”
เช่นเดียวกับที่เขาเรียนรู้ว่า ‘สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ’ ไม่ใช่แค่คำเปรียบเปรย เมื่อมีโอกาสทำความเข้าใจลงไปถึงทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ดังนั้น เราจะคำนวณปริมาณน้ำทั้งประเทศจากการนับรวมแบบหยาบ ๆ ไม่ได้ “เป็นนักเศรษฐศาสตร์สมัยนี้ จะเอาความรู้เฉพาะจากสาขาเศรษฐศาสตร์มาตอบทุกคำถามไม่ได้ จะเอาแค่อุปสงค์ อุปทาน มาใช้กับทุกปัญหาไม่ได้ ทุกเรื่องมีข้อจำกัด มีศาสตร์ที่ลึกว่านั้น เราต้องยินดีขอความรู้คนอื่น”
อย่างไรก็ดี อาจารย์ณัฐพงษ์ ชี้ว่างานวิจัยที่ไปได้ไกลล้วนอาศัยการทำงานเป็นทีม จากการรวบรวมผู้คนที่เชี่ยวชาญต่างกัน แต่มีทัศนคติการทำงานที่สอดคล้องกัน คือ ‘เห็นโจทย์ยากเป็นเรื่องสนุก’
เช่นนี้แล้วในอนาคตอันใกล้ เราคงได้เห็นงานวิจัยข้ามศาสตร์ ที่ช่วยลดความไม่เสมอภาคในสังคมของเขากันอย่างแน่นอน
“Champion Researcher” เป็นคอลัมน์สัมภาษณ์ที่ชวนนักวิจัยบอกเล่าประสบการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ และข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจหรืออยากทำงานวิจัยในลักษณะทำนองเดียวกัน
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– TU SDG Seminars | สะท้อนความคิดและการศึกษางานวิจัยความยากจน มีอุปสรรคและความท้าทายอย่างไร – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ