คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถยืนหยัดทำงานในเรื่องเดิม ปัญหาเดิม ที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขมาอย่างยาวนานถึงกว่า 20 ปี เมื่อพูดถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน การเกิดอุบัติเหตุในไทยยังคงอยู่ในอัตราที่สูง และหากมองภาพให้ใหญ่ขึ้นไปอีก ในเมืองที่เราอยู่อาศัยโดยเฉพาะในเขตหัวเมืองใหญ่ ก็ยังคงมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้คนในไทยสักเท่าไร
2 เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกันที่ความเหลื่อมล้ำ และเป็นหัวข้องานวิจัยที่ รศ. ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาทำงานมากว่า 20 ปี
เธอยอมรับว่าวันนี้ทั้งสองเรื่องยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่เธอคาดหวัง บทสนทนาชิ้นนี้จึงต้องขอเกริ่นไว้ก่อนว่า คงไม่ใช่เรื่องราวแห่งความสำเร็จ แต่เป็นเรื่องราวแห่งความหวังในการทำงานวิจัยในระยะยาวราวกับการวิ่งมาราธอนของ รศ. ดร.ภาวิณี เธอเป็นบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมโยธาและมหาบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมขนส่ง ก่อนตัดสินใจพาตัวเองสู่ความไม่คุ้นเคยใหม่ ในการศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาการผังเมือง
เธอคือหนึ่งนักวิจัยที่บอกกับเราว่า นักวิจัยที่ดีต้องพร้อมสลัดทิ้งชุดความรู้เดิมที่ตัวเองมี และเปิดรับชุดความรู้ใหม่อยู่เสมอ ประสบการณ์เรียนปริญญาเอกที่ญี่ปุ่นได้ให้บทเรียนแก่เธอว่า
“เราเรียนเรื่องการผังเมือง จากที่เราไม่เคยมองคนใหญ่ขนาดนั้นในการทำงาน พอไปที่นั่นเขาล้มกระดานเราเลย เขาบอกว่าคุณยังไม่ต้องคิดอะไร เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่มองดูผู้คนก่อน และกลับมาเล่าว่าคุณเห็นอะไร”
จากวิศวกรที่เคยมองทุกอย่างเป็นโครงสร้าง เธอแทบจะต้องปล่อยทุกอย่างที่เธอเคยรู้ และเรียนรู้กับศาสตร์ใหม่ที่อยู่ตรงหน้า
นั่นคือเรื่องราวเมื่อครั้ง 20 ปีก่อน ในสมัยที่เธอยังไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก จนกระทั่งถึงวันนี้ เธอผ่านการเดินทาง เรียนรู้จากผู้คน และการทำงานวิจัยของเธอมาอย่างยาวนาน ยามบ่ายของวันอังคารที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมู่เมฆครื้มฝนทำท่าจะตกเต็มที เรากดเครื่องบันทึกเสียง เริ่มต้นรับฟังเรื่องราวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ อุปสรรคและบทเรียนตลอดการทำงานวิจัยของ รศ. ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล
ความปลอดภัยบนท้องถนน ความล้มเหลวที่ยังไม่ล้มเลิก
หลังเรียนจบปริญญาเอก รศ. ดร.ภาวิณี กลับมาทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) เธอเริ่มต้นทำงานเรื่องความปลอดภัยทางถนน การวางแผนขนส่งสาธารณะ เป็นโอกาสอันดีที่เธอได้ทำงานโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการเชื่อมต่อรถไฟไทย-จีน โครงการจากประเทศเกาหลีใต้ที่มาศึกษาเรื่องการขนส่งทางน้ำในกรุงเทพฯ เธอได้โอกาสนั้นเพราะได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความสามารถ แต่ความเปลี่ยนแปลงก็มาถึงเธออีกครั้ง เมื่ออาจารย์ของเธอมาเสียชีวิตลง
รศ. ดร.ภาวิณี ตั้งความคาดหวังอยากทำงานกับองค์กรระดับนานาชาติ เพื่อโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบาย แต่ด้วยจังหวะเวลาที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกำลังขาดแคลน เธอจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันที่เธอเคยเล่าเรียน แต่ในสถานที่ที่เธอไม่คุ้นชิน ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รศ. ดร.ภาวิณีกล่าวว่าเหมือนต้องทำงานกับคนที่เติบโตมาจากเมล็ดพันธุ์คนละแบบ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะการปรับตัวคือสิ่งที่คุ้นชินกับเธอมาเสมอ
“เรามองว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน อีกหนึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นคือ ถ้ายังไม่ถึงเวลาของคุณ สิ่งที่คุณต้องทำคือการเก็บ ระหว่างที่เขาไม่ให้พูดคุณต้องคิด เห็น เรียนรู้และฟัง เมื่อไหร่ที่ได้พูดคุณต้องทำให้เขาฟังให้ได้”
หลังจากเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. ดร.ภาวิณี เริ่มต้นทำงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยทางถนน (road safety) เธอพยายามสร้างฐานข้อมูลเรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทย และการกำหนด จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง (black spot locations) รวมทั้งเริ่มทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (geographic information system) เป็นเวลา 20 ปีที่เธอติดตามทำงานเรื่องนี้มา แต่จำนวนอุบัติเหตุในไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม
ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำที่คนไทยเลือกไม่ได้ จักรยานยนต์เป็นพาหนะอันดับ 1 ที่คนไทยเลือกใช้เพราะความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ต่ำ แต่ต้องแลกมากับอันตรายที่สูง
แม้เธอจะทำงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ไม่ได้รองรับคนทุกชนชั้น ด้วยค่าบริการที่สูงลิ่วและไม่ครอบคลุม
“คนไทยไม่ได้มีโอกาสได้คิดเรื่องความปลอดภัย เพราะต้องคิดก่อนว่าวันนี้จะมีกินรึเปล่า”
รศ. ดร.ภาวิณี กล่าวต่อว่าตลอด 20 ปีที่ทำเรื่องความปลอดภัยทางถนน สิ่งที่เธอพบในอุบัติเหตุนอกเหนือจากปัญหาทางเทคนิค และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ คือแนวคิดของรัฐไทยที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ได้สร้างการลงทุนภาคบริการขนส่งสาธารณะควบคู่กันไป ดังนั้นประชาชนจึงต้องดิ้นรนหาวิธีการเดินทางด้วยตนเอง
รศ. ดร.ภาวิณี ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เด็กนักเรียนหลายคนบ้านอยู่ติดถนน แต่ไม่มีรถโดยสารประจำทางให้ได้นั่งไปโรงเรียน จึงต้องพึ่งพารถจักรยานยนต์ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักคำว่าความปลอดภัยเลย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ รศ. ดร.ภาวิณี เดินทางไปใช้ชีวิต เช่นประเทศอิตาลี เธอกล่าวว่าสามารถเดินไปทำงานได้อย่างสบายใจ หรือประเทศญี่ปุ่นที่สามารถปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัย แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
“พอคุณทำงานมาจนถึงจุดหนึ่ง คุณจะรู้สึกธรรมดากับความไม่สมหวัง 20 ปีที่ทำงานยาก ท้อ เบื่อ เราเปลี่ยนเป็นคำอื่นหมดแล้ว เปลี่ยนเป็นคำว่าสนุก ท้าทาย มองทุกอย่างเลยจุดขัดแย้งในใจ”
20 ปีที่ผ่านมายังบอกเธออีกว่า งานวิจัยอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนสังคม นักวิจัยต้องเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเด็นในโลกทุกวันนี้
รศ. ดร.ภาวิณี ยกตัวอย่างสถาปนิกคนหนึ่งที่เธอเจอในต่างประเทศ เขาผันตัวเองไปเป็นนักโฆษณา สร้างแคมเปญในประเด็นผู้ลี้ภัย การเหยียดผิว การก่อความรุนแรงทางเพศ โครงการที่เขาทำสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ในวงกว้าง เธอมองว่านักวิจัยทุกวันนี้ ก็ควรที่จะพร้อมถอดหมวกนักวิจัยและเรียนรู้งานในแขนงอื่น หรืออย่างน้อยก็ควรมีทีมงาน ที่สามารถนำเอางานวิชาการ มาตีความเป็นภาษาที่สื่อสารถึงคนได้อย่างเข้าใจง่าย
“สิ่งสำคัญสำหรับการวิจัย เราอาจไม่จำเป็นต้องถือกระบวนการ เพราะกระบวนการไม่มีอยู่จริง ยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอะไรพร้อม คุณไม่มีทางที่จะรู้ว่าสูตรไหนจะนำมาซึ่งความสำเร็จ สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือลงมือทำ”
โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่องความปลอดภัยทางถนน รศ. ดร.ภาวิณีได้นำเครื่องมือ AI มาใช้ในการอ่านภาพจาก CCTV เพื่อกำหนดจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เป็นการประเมินความเสี่ยงก่อนที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้น
โดยแต่ละโครงการที่เธอได้รับทุนมาทำงานวิจัยนั้น รศ. ดร.ภาวิณีกล่าวว่า ยังคงมีความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน กล่าวคือเมืองไทยไม่นิยมให้ทุนการทำงานในระยะยาว งานวิจัยส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 ปี พอปีหน้าเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยนเรื่องใหม่ เป็นอุปสรรคในการทำงาน ที่นักวิจัยไม่สามารถทำงานของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
“บุคลากรทางด้านวิชาการของไทยไม่น้อยหน้าใคร คนไทยมีความรู้และความสามารถ แต่ด้วยโครงสร้างของประเทศนี้ ทำให้แต่ละคนไม่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา”
เมืองคือทั้งชีวิตของผู้คน ปลายทางอันแสนไกลของ Learning City
“ลองไปถามคนปทุมธานี ว่าต้นไม้ของจังหวัดพวกเขาคืออะไร เราเชื่อว่าหลายคนตอบไม่ได้ แต่ลองไปถามผู้คนในเมืองที่พวกเขารักเมืองตัวเอง เขารู้จักเมืองในทุกแง่มุม มันเป็นความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ”
นอกจากงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยทางถนนแล้ว งานวิจัยเรื่องแผนเมืองคืออีกหนึ่งหัวข้อที่ รศ.ดร.ภาวิณี ได้ลงมือทำ เธอเริ่มต้นการทำงานวิจัยกับพื้นที่ต้นแบบอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในหัวข้อการบูรณาการการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน
เธอเลือกพื้นที่มหาวิทยาลัย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีข้อได้เปรียบในการทำงาน ทั้งทรัพยากรและความช่วยเหลือจากทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน
“โครงการเกี่ยวกับแผนเมืองเป็นเรื่องซับซ้อน ดังนั้นอย่าคิดที่จะทำคนเดียว”
รศ. ดร.ภาวิณี เน้นย้ำตลอดว่าการทำงานโครงการเช่นนี้ ต้องมีทีมที่แข็งแรง เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน แต่คุณไม่สามารถเชี่ยวชาญได้ทุกเรื่อง เธอได้ทีมจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยเรื่องการทำเซนเซอร์ดูมลพิษและสารพิษในอากาศ รวมทั้งได้ทีมด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน มาช่วยทำในเรื่องของแพลตฟอร์มการแสดงผลต่างๆ
โครงการดังกล่าวช่วยให้คนเห็นภาพเมืองอัจฉริยะ (smart city) ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคนทำงานเองก็ได้เรียนรู้ว่า การทำงานร่วมกับคนต่างสาขาอาชีพ ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการทำงานคนเดียว
“นักวิจัยต้องมีความจริงใจในการเข้าหาคน เป็นความจำเป็นที่เราต้องมีเพื่อน เพราะเราคนเดียวไม่สามารถทำได้”
จากโครงการสร้างเมืองต้นแบบในมหาวิทยาลัย รศ. ดร.ภาวิณีได้ขยับบทบาทตัวเอง มาทำโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้ของจังหวัดปทุมธานี โดยมีเป้าหมายในการสร้าง เมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) ที่ทุกคนในเมืองมีความรู้สึกรักและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ
แต่การที่จะเปลี่ยนเมืองได้นั้น คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนตั้งแต่ลืมตาตื่น จนกระทั่งหลับตานอน เป็นโครงการใหญ่ที่ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็กลับไปที่ปัญหาเรื่องการทำงาน รศ. ดร.ภาวิณี ไม่สามารถทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ไปได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้นเธอจึงกล่าวว่าเวลาทำงานเธอมีจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างทางก็ควรตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้ เพราะยิ่งผ่านเป้าหมายเล็กๆ มาได้มากแค่ไหน นั่นหมายความว่ากำลังเข้าใกล้จุดหมายปลายทางมากขึ้นเท่านั้น
“ชีวิตการทำงานวิจัยคือการเดินทางระยะยาว กับความผกผันที่คุณต้องเผชิญ คุณจะไม่ได้เห็นความสำเร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ”
สำหรับปลายทางของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น คือการสร้างเมืองที่ดีในความหมายที่ถ้าคุณมีลูก คุณสามารถจูงมือลูกของคุณไปโรงเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ระหว่างทางมีต้นไม้ ธรรมชาติ ที่ลูกคุณสามารถเรียนรู้ได้ระหว่างทางไปเรียน เมื่อไหร่ที่เราสามารถสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ มันจะกลายเป็นเมืองที่ลดต้นทุนให้กับทุกคน ทุกคนไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการใช้ชีวิตในเมือง มีพลังงานเหลือมากพอในการสร้างสรรค์งานในหน้าที่ของตัวเอง
แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้น รศ. ดร.ภาวิณี กล่าวว่าเรื่องปากท้องต้องมาก่อน งานวิจัยชิ้นนี้ของเธอจึงเริ่มต้นจากเรื่องพื้นฐาน ให้คนที่อยู่ในเมืองสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่ากัน ให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมือง โดยไม่ต้องใช้เงินในการขับเคลื่อนทุกอย่าง แต่เขาสามารถเข้าใช้บริการต่างๆ ได้ เมื่อเมืองสามารถสร้างสิ่งนี้ให้กับผู้คนจึงจะเกิดความผูกพัน และความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาเมืองจึงจะเกิดตามมา
20 ปีบนเส้นทางแห่งความเชื่อและศรัทธาในงานวิจัย
จากวันแรกที่ รศ. ดร.ภาวิณี เริ่มต้นการทำงานวิจัย ในหัวข้อแผนเมืองกับความปลอดภัยบนท้องถนน เธอกล่าวว่าเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่มีเพียงภาพจินตนาการอยู่ในความคิด แต่ในความเป็นจริงนั้น เธอแทบจะไม่เห็นภาพใดๆ ในการทำงานช่วงแรก
งานวิจัยเหมือนการค่อยๆ เติมจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ ปะติดปะต่อภาพออกมา จนวันหนึ่งรศ.ดร.ภาวิณี เริ่มเห็นว่างานที่เธอทำออกมาเป็นรูปร่าง แม้จะยังไม่ได้เป็นภาพที่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นภาพที่ชัดเจนมากกว่าวันแรกที่เริ่มทำงาน
“เรารู้สึกว่างานที่ดีคืองานที่ต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะปัญหามันยังไม่หยุด และเราทำมาขนาดนี้แล้ว อย่างน้อยก็ทำต่อเพื่อให้คนที่ทำอยู่ข้างหลังเราได้เห็น ว่าเราก็ยังทำสิ่งเดียวกับที่เขาทำอยู่ตรงนี้”
ทุกครั้งที่มีปัญหาระหว่างทำงาน รศ. ดร.ภาวิณี ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาด้วยความเชื่อ หนึ่งคือเชื่อมั่นในตัวเอง และต่อมาคือเชื่อมั่นในทีมงานที่ทำงานร่วมกัน เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดความคิดอยากหยุดทำงาน เธอก็จะกลับไปถามตัวเองว่า เธอกำลังทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และเธอจะทิ้งความเชื่อของตัวเองได้อย่างไร
ทีมงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะการทำงานวิจัยคือการวิ่งมาราธอน ที่ถ้าเมื่อไหร่คุณเหนื่อย การมีคนร่วมวิ่งไปกับคุณ ย่อมดีกว่าการวิ่งบนหนทางยาวไกลคนเดียว เธอกล่าวว่าทุนทางสังคมจะช่วยค้ำยันให้เราสามารถยืนระยะทำงานต่อได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาทีมงานที่ทำงานเข้ากับเราให้เจอ
และเมื่องานวิจัยไม่ใช่งานเดี่ยว แต่คืองานกลุ่มที่นักวิจัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อีกหนึ่งคำแนะนำจาก รศ. ดร.ภาวิณี คือการเรียนรู้จากความแตกต่างของผู้คน นักวิจัยต้องพร้อมละทิ้งสิ่งที่ตัวเองยึดถือ และเปิดใจว่ามันคือสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากผู้คนที่แตกต่าง
“ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ศาสตร์ไหน แต่ปัญหาคุณเผชิญเรื่องเดียวกัน แล้วคุณจะยึดถือศาสตร์ที่ตัวเองเรียนมาเพื่ออะไร”
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าโจทย์วิจัยที่กำลังทำอยู่มันจะออกมาเป็นอย่างไร บางครั้งมันอาจจบลงด้วยผลลัพธ์ที่ไม่ได้อย่างที่คาดหวัง หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ รศ.ดร.ภาวิณีก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะสุดท้ายแล้วนักวิจัยก็ต้องมีความยืดหยุ่นกับตัวเอง และบอกกับตัวเองเสมอว่า
“สิ่งที่เราทำไปมาถึงแค่นี้ก็ดีแล้ว”
เครื่องบันทึกเสียงหยุดลงเมื่อการสนทนาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง บทเรียนและประสบการณ์ของ รศ. ดร.ภาวิณี ทำให้เห็นว่าการทำงานขับเคลื่อนสัก 1 ประเด็นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมือง เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน
เราคิดว่าวันนี้ข้อมูลที่ได้รับคงมากเพียงพอจากการถอดบทเรียนของ รศ. ดร.ภาวิณี แต่ไม่ใช่อย่างนั้น! เครื่องบันทึกเสียงกดทำงานอีกครั้ง เพื่อบันทึกข้อความ 1% สุดท้ายที่เราได้รับจากบทสนทนา
“ทุกๆ การทำงานเหมือนเรามาเจอกันครั้งแรก จะมีสักกี่คนที่จะเปิดใจทั้งหมด วันนี้ที่เราพูดมาอาจจะแค่ 1% ถ้าคุณอยากได้อีก 99% คุณต้องทำงานหนักขึ้นไปอีก มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้ข้อมูลที่เป็นจริงแค่ไหน มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ เวลา และความต่อเนื่องที่คุณต้องทำงานกับมัน”
20 ปีบนเส้นทางการทำงานของ รศ. ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล จึงเป็นเพียงแค่เรื่องราวระหว่างทาง เพราะในวันนี้เธอยังคงทำงานวิจัยของเธอต่อไป เป็นความต่อเนื่องในการทำงานที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความหลงใหล แต่มันคือความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่เธอทำ
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– TU SDG Seminars | งานวิจัยจะศึกษาและหนุนเสริมการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้อย่างไร ชวนหาคำตอบจากบทสรุปสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมลํ้าและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
– การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ทำไมต้องคำนึงถึง ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ และความร่วมมือ ‘ภาครัฐ-เอกชน’ สำคัญอย่างไร ?
– Champion Researcher | เมื่อชุมชนมีของยาใจ แต่ไม่พอยาไส้ อนุรักษ์แบบไหนจึงตอบโจทย์
“Champion Researcher” เป็นคอลัมน์สัมภาษณ์ที่ชวนนักวิจัยบอกเล่าประสบการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ข้ามความรู้ และข้อแนะนำสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจหรืออยากทำงานวิจัยในลักษณะทำนองเดียวกัน
ณฐาภพ สังเกตุ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ