ภาคพลังงานไทยจะร่วมจำกัดอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ อะไรคือปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาท้าทายของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การทำฟาร์ม และการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกในการออกแบบนโยบาย มาตรการ ข้อผูกพัน และความร่วมมือเพื่อควบคุมและแก้ปัญหาไม่ให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้น โดยหนึ่งในความพยายามที่สำคัญและเป็นโจทย์ความร่วมมือระหว่างประเทศนั่นคือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีเป้าหมายท้าทายหลายประการ อาทิ รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส การจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในช่วงเวลาระหว่างปี 2593 และ 2643 และการทบทวนการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ 5 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามยิ่งขึ้น

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า “การเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย ประเทศไทยเข้าร่วมเพราะตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน…เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ”

การขับเคลื่อนสังคมไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมจำกัดอุณภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีงานวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการควบคุมและจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้สุทธิเป็นศูนย์ในไทยยังมีค่อนข้างจำกัด 

เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว Puttipong Chunark และ Bundit Limmeechokchai สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Thailand Energy System Transition to Keep Warming Below 1.5 Degrees” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อศึกษาและระบุถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงานในภาคพลังงานของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก 1.5 °C ผ่านคำถามวิจัย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ภาคพลังงานของไทยสามารถบรรลุการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้หรือไม่ และประการที่สอง การลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด? 

ด้วยประเด็นและปลายทางของผลลัพธ์ที่เน้นศึกษารูปแบบการใช้พลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก 1.5 °C ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Puttipong Chunark และ Bundit Limmeechokchai ดำเนินการวิจัยด้วยการใช้แบบจำลอง Asia Pacific Integrated Model (AIM) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นสำหรับใช้พยากรณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเมินผลทางเลือกเทคโนโลยีเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้แบบจำลอง AIM ประเภท AIM/Enduse ซึ่งเป็นแบบจำลองในการเลือกเทคโนโลยีของระบบเศรษฐศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (energy-economy-environment System) ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายสำคัญของการใช้คือเพื่อพยากรณ์การใช้พลังงาน (energy consumption) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) รวมทั้งวิเคราะห์การลดการใช้พลังงาน และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีเป้าหมาย อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ ผลกระทบของภาษีที่มีผลต่อการใช้พลังงาน 

ทั้งนี้ แบบจำลองดังกล่าวศึกษาผ่านฉากทัศน์ 5 แบบ ได้แก่

  1. ฉากทัศน์ธุรกิจตามปกติ (Business-as-usual หรือ BaU)
  2. ฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์สูง (High-renewable energy and nuclear หรือNUC_REHH)
  3. ฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์ต่ำ (Low-renewable energy and nuclear หรือNUC_RELW) 
  4. ฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนสูง (High-renewable energy and CCS technologies หรือ CCS_REHH)
  5. ฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนต่ำ (Low-renewable energy and CCS technologies CCS_RELW) 

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบโดยสรุปที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

  • ภาษีคาร์บอน การขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน มีผลเชิงบวกต่อการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงปี 2553 – 2593 
  • การรักษาระดับการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์สามารถทำได้จริงในช่วงปี 2573 – 2593 โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมการผลิต เป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการกำหนดภาษีคาร์บอน 
  • การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ
  • โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เป็นศักยภาพที่ต่ำกว่าทั้งกรณีฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนสูงและต่ำ
  • ฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์ต่ำ และฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนต่ำ มีศักยภาพลดการปล่อย CO2 ได้น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์สูงและฉากทัศน์ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนสูง

นอกจากนี้ Puttipong Chunark และ Bundit Limmeechokchai ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ 

  • การกำหนดภาษีคาร์บอนที่ 500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และ 1,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการควบคุมสภาพภูมิอากาศโลกได้
  • การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดจะไม่ถึงศูนย์ เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • การวิจัยในอนาคตมีความจำเป็นในการระบุศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
  • ควรคำนึงถึงการรับรู้ของสาธารณชนและการยอมรับจากสังคมเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ วิสาหกิจ ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถลดความเปราะบางของชุมชนท้องถิ่นต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง
  • ควรมีการดำเนินนโยบายหลายอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ 1.5 องศา อาทิ เสริมสร้างศักยภาพในองค์กรของรัฐ การสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศ สิ่งจูงใจทางการเงิน การสร้างความตระหนักรู้และการปรับตัวที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการศึกษาและสื่อ การแบ่งปันเทคโนโลยี 
  • จำเป็นต้องมีกฎหมายป่าไม้และการผลิตอาหารเพื่อจำกัดการขยายพื้นที่เพาะปลูกชีวมวลเชิงพาณิชย์เข้าไปในพื้นที่ป่า 

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Thailand Energy System Transition to Keep Warming Below 1.5 Degrees” สะท้อนถึงข้อมูลและความเป็นไปได้ของการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวพันกระทบต่อการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสไว้ได้ ตามฉากทัศน์ต่าง ๆ ผ่านแบบจำลอง AIM/Enduse นับว่าเป็นงานวิจัยที่ประโยชน์อย่างมากแก่การตั้งต้นเชิงนโยบายและออกแบบแผนเพื่อให้ใช้เป็นแนวทางให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับไปปรับใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญของโลก

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.b) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับโครงการสนับสนุนของประเทศเหล่านั้น ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.c) ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดกการบิดเบือนทางการตลาดโดยให้สอดคล้องสภาวะแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้นในที่ที่ยังมีการใช้อยู่ เพื่อให้สะท้อนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงอย่างเต็มที่ถึงความจำเป็นและเงื่อนไขที่เจาะจงของประเทศกำลังพัฒนาและลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นที่จะมีต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านั้นในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองคนจนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

ข้อมูลงานวิจัย:  Puttipong Chunark & Bundit Limmeechokchai. Thailand Energy System Transition to Keep Warming Below 1.5 Degrees. CARBON MANAGEMENT2018, VOL. 9, NO. 5, 515–531https://doi.org/10.1080/17583004.201
ชื่อผู้วิจัย -สังกัดPuttipong Chunark และ Bundit Limmeechokchai สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

‘กระบวนการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ HIV’ สำหรับคู่รักที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เพื่อสร้างความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มใช้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) แบบสูตรยาหลายขนานร่วมกัน …

HealthSDG3SDG5STISTI x HealthTUSDGResearchNetwork

อิทธิพลใดที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกใช้ ‘Metro-Bus’ ค้นหาคำตอบผ่านการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีรายได้ ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน

ปัจจุบัน ประชากรในเขตเมืองนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนต้องพึ่งพายานพาหนะในการเดินทางและสัญจรมากขึ้น …

InequalityPolicyPolicy x InequalitySDG10SDG11SDG9TUSDGResearchNetwork

ศึกษาการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของ ‘เด็กปฐมวัย’ ปัจจัยใดส่งผลต่อการดำเนินงาน ค้นหาคำตอบผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในประเทศไทย

ปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของประชากรที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติ การค้นพบปัญหาพัฒนาการผิดปกติ …

HealthPolicyPolicy x HealthSDG3SDG4TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top