ปัจจุบันเขตเมืองในประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับลักษณะการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังกระทบต่ออนามัยของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมและขาดการวางแผน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองมีการยื้อแย่งที่ดินทางการเกษตร พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ชุ่มน้ำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางธรรมชาติ ทำให้บริการทางระบบนิเวศ (ecosystem services) เกิดความเสื่อมโทรมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (environmental sustain-ability) ถดถอย
ปัญหาข้างต้น กลายเป็นประเด็นสำคัญที่เมืองต่าง ๆ ในประเทศทั่วโลกต้องเร่งศึกษาถึงสภาพปัญหาและค้นหาแนวทางจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับงานวิจัย “Sustainable urbanization in Southeast Asia and beyond: Challenges of population growth, land use change, and environmental health” โดย Md. Arfanuzzaman องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ประจำประเทศบังกลาเทศ และ Bharat Dahiya วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามศึกษาการเติบโตของประชากร การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และอนามัยสิ่งแวดล้อมว่ามีความเชื่อมโยงและท้าทายต่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่ข้อค้นพบและแนวทางการจัดการที่สอดรับกับพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะทั้งทางสังคมและกายภาพ
ด้วยประเด็นและปลายทางของผลลัพธ์ที่เน้นศึกษาความยั่งยืนของการพัฒนาที่เกี่ยวโยงอยู่กับจำนวนประชาการ การใช้ที่ดิน และคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ประชากรเพิ่มขึ้น” โจทย์ตั้งต้นเพื่อค้นหา “ความจริง” และ “คำตอบ” ของการจัดการเมืองที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบังกลาเทศ
Md. Arfanuzzaman และ Bharat Dahiya ตั้งต้นงานวิจัยของพวกเขาจากสภาพการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุถึงสภาพการณ์ที่น่าสนใจ 4 ประเด็น ได้แก่
- โอกาสในการเข้าถึงงานและการเข้าถึงบริการสาธารณะ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรกว่า 45% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเลือกอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.1 พันล้านคนในปัจจุบันเป็น 3.4 พันล้านคน ภายในปี 2593
- แม้เปอร์เซ็นต์ของผู้อาศัยในสลัมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการลดลง 26% ในเอเชียใต้ และ 21.1% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี 2533-2557 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมิติทางเศรษฐกิจ พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของประชากรในเมืองยังคงอาศัยอยู่ในสลัม อันเนื่องมาจากความยากจน การย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง การกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน และค่าใช้จ่ายสาธารณะที่จำกัด เช่นนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการวางผังเมืองที่ดี เพื่อสร้างโอกาสของการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่เป็นหุ้นส่วน
- ประชากรของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีประชากรรวมมากกว่า 630 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 660 ล้านคนในปี 2563 และมากกว่า 720 ล้านคนภายในปี 2573
- ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งในการสานสร้างความร่วมมือทั่วทั้งภูมิภาค แทนที่ประเทศที่คล้ายคลึงกันจะมุ่งแข่งขันกันเอง แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรนำเศรษฐกิจที่หลากหลายซึ่งส่งเสริมซึ่งกันและกันและสามารถได้รับประโยชน์จากกันและกัน
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรข้างต้น นำมาสู่การตั้งคำถามที่น่าสนใจอย่างน้อยสองประการ คือ “จะก่อผลให้เกิดการใช้ที่ดินเปลี่ยนแปลงอย่างไร” และ “จะก่อผลกระทบต่ออนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่งานวิจัยดังกล่าวพยายามค้นคว้าหาคำตอบ
ศึกษาแบบพหุวิทยากร วิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง
Md. Arfanuzzaman และ Bharat Dahiya ได้ศึกษาสถานการณ์ความยั่งยืนข้างต้นของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศบังกลาเทศผ่านวิธีการวิจัยแบบพหุวิทยาการ (multidisciplinary) คือ การวิจัยที่อาศัยความรู้จากสาขาวิชาชีพที่มีภูมิหลังต่างกัน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index) แผนที่ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ รายงานและเอกสารที่ตีพิมพ์ขององค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมถึงข้อมูลคุณภาพน้ำและมลพิษทางอากาศของเมืองธากาจากคณะกรรมการพัฒนาน้ำแห่งบังกลาเทศ
อย่างไรก็ดี ในการประเมินสุขภาวะเขตเมือง (urban health) ไม่ได้ครอบคลุมประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด แต่คณะผู้วิจัยได้จำกัดพื้นที่เฉพาะไว้ 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งพิจารณาจากการเป็นเมืองที่กำลังเผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม (environmentally critical city) เท่านั้น
โดยสรุป งานวิจัยนี้มีประเด็นสำคัญที่มุ่งศึกษา 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การศึกษาพยายามที่จะระบุถึงปัญหาและความท้าทายทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของเมือง เพื่อช่วยเสริมสร้างความตื่นตัวแก่เมืองของทั้ง 7 ประเทศที่เป็นพื้นที่ศึกษา ในการพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและการจัดการสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง พยายามที่จะศึกษาว่าเมืองที่ร่ำรวยและยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการต่อมิติความยั่งยืนของเมืองอย่างไร ประการที่สาม ศึกษาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และธากาว่าศูนย์กลางของเมืองมีการเติบโตบนฐานของการก่อความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร
สู่ข้อค้นพบเชิงพื้นที่เเละเชิงเปรียบเทียบ
งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองสัมพันธ์กับการที่ผู้คนในเมืองมีสุขภาพที่ดี มีความสุข สามารถเข้าถึงการศึกษา การบริการทางสุขภาพ อาหารและน้ำที่ปลอดภัย ไฟฟ้า การคมนาคม และได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด อย่างไรก็ดี สำหรับเมืองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร มีความท้าทายในการจัดการสิ่งดังกล่าวให้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะรูปแบบในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนประชากรอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
สำหรับข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยฉบับนี้ อาทิ
- ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยเมื่อเทียบกับภูมิภาคใกล้เคียงอย่างเอเชียตะวันออก พบว่า เพิ่มสูงขึ้นกว่าเช่นกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ที่อาศัยในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังจะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้อาศัยในเขตเมืองเมื่อปี 2543 สำหรับประเทศกัมพูชามีจำนวน 16% อินโดนีเซีย 42% มาเลเซีย 62% ฟิลิปปินส์ 48% สิงคโปร์ 100% ประเทศไทย 31% และน้อยกว่า 30% ในเวียดนาม เมียนมาร์ และบังกลาเทศ ทว่าในปี 2558 พบว่า ผู้อาศัยในเขตเมืองของประเทศดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกัมพูชาอยู่ที่ 20.7% อินโดนีเซีย 53.7% มาเลเซีย 74.3% เวียดนาม 33.9% เมียนมาร์ 29.2% และบังกลาเทศ 54.2% เว้นแต่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยที่สัดส่วนยังคงที่
- เขตเมืองส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบังกลาเทศ กำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านทางการเงิน ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการจัดสรรงบประมาณสำหรับบริการสาธารณะ ทั้งด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา การใช้พลังงานไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย และประกันสังคม โดยพบว่าในปี 2558 การใช้จ่ายแก่ภาคส่วนการดูแลสุขภาพนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย โดยกัมพูชาใช้จ่ายอยู่ที่ 1.5% ของ GDP มาเลเซีย 2.0% สิงคโปร์ 1.8% ไทย 1.2% และฟิลิปปินส์และบังกลาเทศใช้จ่ายน้อยกว่า 1% ของ GDP
- ประชากรในเขตเมืองที่อาศัยอยู่ในสลัมในเมียนมาร์ กัมพูชา และบังกลาเทศ มีมากกว่า 40% ขณะที่ ในอินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม อยู่ที่ระหว่าง 20% ถึง 40%
- เขตเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการขยายตัวระหว่างปี 2543-2553 ได้แก่ มะนิลา ฮานอย และจาการ์ตา ซึ่งทั้งสามเมืองมีการใช้ที่ดินอย่างขยายวงกว้างขึ้น ขณะที่ การขยายตัวของเมืองกัวลาลัมเปอร์ โตเกียว โซล และกรุงเทพฯ เป็นไปในรูปแบบที่กระจัดกระจายในช่วงเวลาดังกล่าว
- สิงคโปร์เป็นเพียงเมืองเดียวที่จัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยได้ 100% ขณะที่ฮานอยอยู่ที่ 95.2% มะนิลา 76.9% กรุงเทพฯ 62.9% ธากา 45.0% และจาการ์ตา 35.0%
- เมื่อเทียบกับธากา ศูนย์กลางเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ฮานอย จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ และมะนิลา มีมลพิษในระดับที่ต่ำกว่ามาก
ข้อเสนอแนะเพื่อปูทางสู่การพัฒนาเมืองในอุษาคเนย์อย่างยั่งยืน
จากข้อค้นพบจากงานวิจัย Md. Arfanuzzaman และ Bharat Dahiya ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจไว้หลายประการ อาทิ
- ส่งเสริมแผนการใช้ที่ดินแบบบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งควรคงไว้ในระยะยาว
- นโยบายเมือง การวางผังเมือง และกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในอนาคต การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการบริการสาธารณะของเมืองจะต้องได้รับการพิจารณา โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติของนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
- ควรกระจายศูนย์กลางการเติบโตของเมือง เพื่อสร้างหลักประกันว่าพลเมืองทุกคนจากพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศจะสามารถเข้าถึงโอกาสได้
- ลดการทุจริต มีการกำหนดกฎหมายและระเบียบตลอดจนธรรมาภิบาลเมืองที่ดี
- เมืองที่เผชิญวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมต้องปรับนโยบายใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในการหลีกเลี่ยงหนทางที่เลวร้ายในอดีต ซึ่งนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนและสร้างความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อม
- ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในกระบวนการและการจัดการการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมการเจรจานโยบายและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมืองในประเทศหุ้นส่วน
- สร้างแพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้และการจัดการสำหรับนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จและการพัฒนาขีดความสามารถ
- กำหนดพื้นที่ลำดับความสำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคและการลงทุนร่วมกันในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน รวมถึงการคุ้มครองและการจัดการสิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคม และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ Md. Arfanuzzaman และ Bharat Dahiya ได้ถางทางให้การศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงเเละผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การใช้ที่ดิน และอนามัยสิ่งแวดล้อมเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ “เขตเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศบังกลาเทศ” ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาหลัก งานวิจัยได้เผยถึงสภาพการณ์และทิศทางของปัญหาทั้งในเชิงรายพื้นที่และเชิงเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ผ่านวิธีการวิจัยแบบพหุวิทยาการที่ผนวกรวมข้อมูลและศาสตร์หลากสาขาวิชามาสู่การวิเคราะห์ ค้นหาตอบ และเสนอทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองเหล่านั้นอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงให้ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วมบูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ข้อมูลงานวิจัย: Arfanuzzaman, M., Dahiya, B. (2019). Sustainable urbanization in Southeast Asia and beyond: Challenges of population growth, land use change, and environmental health. Growth and Change, 50(2), 725 – 744. DOI: 10.1111/grow.122
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: Md. Arfanuzzaman องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ประจำประเทศบังกลาเทศ และ Bharat Dahiya วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)