การขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมโดยเด็กและเยาวชน ทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์’

ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะ โดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน : กรณีศึกษานำร่องสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด” โดย รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 18 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ถึง มีนาคม 2561

ในประเทศไทยกระแสความสนใจและการศึกษาวิจัยนวัตกรรมทางสังคมเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา นวัตกรรมทางสังคมเปรียบเสมือนแกนหลักในการพัฒนาประเทศโดยมีนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวเสริม อาจกล่าวได้ว่านวัตกรรมทางสังคมนั้นเป็นการพัฒนาด้วยการใช้สังคมและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งทำให้เกิดภาวะสมดุลสุขภาวะอย่างมีพลวัตได้

จากรายงานของยูนิเซฟ (UNICEF) ว่าด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็ก ระบุว่า ควรดำเนินการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เด็กกว่าล้านคนได้รับประโยชน์ ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรทั่วโลกจะช่วยให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อเด็กทุกคน ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่าเด็กและเยาวชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมทางสังคม

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน พัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนในการแสดงบทบาทที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย พัฒนาองค์ความรู้ด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมในระดับพื้นที่และจังหวัด และสร้างเครือข่ายแกนนำที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

การดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

1. การศึกษาวิจัยเรื่องนวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่

การศึกษาแบ่งการรวบรวมข้อมูลเป็นทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ การทบทวนและสังเคราะห์วรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง (content analysis) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) และการสนทนากลุ่ม (focus group discussion)

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม และ รศ.ชานนท์ ได้เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ดังนี้

  • ต้องเปิดโอกาสเด็กและเยาวชนแสดงศักยภาพ
  • ต้องเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว
  • ต้องให้เยาวชนมีบทบาทนำ
  • ต้องสร้างความชื่นชอบและแรงจูงใจ
  • ต้องสร้างพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชน

2. การดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

จังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการมีทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ปทุมธานี ยะลา ยโสธร ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ สมุทรสาคร และ อุตรดิตถ์

กระบวนการขับเคลื่อนการส่งเสริมให้สภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินนวัตกรรมทางสังคม เริ่มต้นจากการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้ของคนในพื้นที่ แกนนำสภาเด็กและเยาวชนได้รับการเสริมความรู้และทักษะการเป็นนวัตกร ในการสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมทางสังคมเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยทางโครงการได้ใช้เครื่องมือเฉพาะที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย คือ Social Innovation Design (SID) แบ่งขั้นตอนการทำงานเป็น 4 ขั้นตอน คือ

  1. การวิเคราะห์พื้นที่ผ่านเครื่องมือ SWOT และเครื่องมือ Cause-Effect Analysis เพื่อหารากที่แท้จริงของปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ
  2. ออกแบบนวัตกรรมทางสังคม พูดคุยกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการดำเนินกิจกรรม และร่วมกันออกแบบแนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ที่ไม่เคยถูกใช้ในพื้นที่นั้น
  3. การลงมือทำตามแผน เน้นการลงมือปฏิบัติ และการตรวจสอบหรือประเมินการทำงานตลอดเวลา ทำให้กระบวนการ SID ส่วนใหญ่จะวนลูปอยู่ในขั้นที่ 2-3
  4. การส่งต่อและสร้างเครือข่ายองค์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและสร้างความยั่งยืนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม

ทางโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมโดยมีสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดทั้งหมด 12 จังหวัดที่เข้าร่วม และสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมทางสังคมที่มีความหลากหลายครอบคลุมบริบทการดำเนินชีวิตตามหลักสุขภาวะทั้ง 4 ประการ ประกอบด้วย กาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 คน ทั้งชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา ผู้นำศาสนา ผู้ป่วยติดเตียง และอื่น ๆ อีกมากมาย

การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เกิดขึ้นได้ด้วยการแต่งแต้มความรู้ ประสบการณ์ และอุดมการณ์ จากผู้ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนและสังคม โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เพียงการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของชุมชนผ่านความสนใจของพวกเขา แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตของเยาวชน พร้อมไปกับการเติบโตของเครือข่ายการพัฒนาทางสังคมอีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม 

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

เมื่อปัจจุบัน ‘ผู้สูงอายุ’ เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการกลไกป้องกันอย่างไร ? ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.เดชา สังขวรรณ’

ชวนอ่านงานวิจัย “มาตรการกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ” โดย …

HealthPolicyPolicy x HealthSDG1SDG10SDG3TUSDGResearchNetwork

เสริมสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชนคุ้มครองเด็ก” แนวทางการมีส่วนร่วม พัฒนา ปกป้อง และช่วยเหลือเป็นอย่างไร ชวนค้นหาคำตอบงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์’

ชวนอ่านงานวิจัย “ที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแนวทางศึกษารูปแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก”โดย ผศ. …

InequalityPolicyPolicy x InequalitySDG10SDG16SDG4SDG5TUSDGResearchNetwork

เพื่อเตรียมรับมือ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ และคณะ’

ชวนอ่านงานวิจัย “ประเมินผลมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน …

HealthPolicyPolicy x HealthSDG3TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top