นวัตกรรมการดูแลคนพิการช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีสิ่งใดที่น่าสนใจบ้าง? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ.รณรงค์ จันใด’

ชวนอ่านงานวิจัย “บริการทางวิชาการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ และนวัตกรรมการดูแลคนพิการในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” โดย ผศ.รณรงค์ จันใด คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบให้ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพิการ ที่มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรม ทำให้ไม่สามารถป้องกันตนเองจากโรคได้เทียบเท่าคนทั่วไป เช่น คนพิการทางสายตาที่ต้องสัมผัสพื้นผิวมากกว่าปกติ คนพิการทางการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยหรือล้างมือด้วยตนเอง คนพิการทางจิต/สติปัญญา/ออทิสติก ที่ไม่สามารถเข้าใจมาตรการในการป้องกันโรคได้เท่าคนทั่วไป และหากคนพิการเจ็บป่วยก็อาจจะต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลมากกว่า รวมถึงอาจมีอาการป่วยหนักกว่าคนทั่วไปเนื่องจากมีโรคร่วมทางกายมากกว่า

งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้สำหรับการดูแลคนพิการในแต่ละประเภทความพิการ และสังเคราะห์รูปแบบและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการดูแลคนพิการในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ 

ซึ่งงานวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกประเด็นกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง และการถอดบทเรียนและองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการดูแลคนพิการ กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรด้านคนพิการ คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 10 องค์กร เครื่องมือที่ใช้วิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบบันทึกภาคสนาม แบบบันทึกการสังเกต แบบบันทึกการสัมภาษณ์แบบสอบถาม และรายงานการวิจัยแบบพรรณนาและพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษาของ ผศ.รณรงค์ พบว่า ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการพัฒนานวัตกรรมการดูแลคนพิการที่น่าสนใจ ดังนี้

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์
(product innovation)

  • หลักสูตรการเรียนในวิทยาลัยและสร้างอาชีพเพื่อคนพิการ
  • คลิปวิดีโอการสอนกิจกรรมการสื่อสารทางเลือก (Augmentative Alternative Communication – AAC)  
  • คู่มือการฝึกอาชีพด้านเทคโนโลยีสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ 
  • แอปพลิเคชั่นผ่านแพลตฟอร์ม TRUE WE WORLD 
  • “กล่องปันสุข”  ให้นักเรียนตาบอด

นวัตกรรมกระบวนการ
(process innovation)

  • มาตรการจัดเวลาพิเศษให้ผู้สูงอายุ-คนพิการ ซื้อของจำเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต
  • โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ
  • ตั้งจุดพักคอยสำหรับคนพิการ “Community Isolation (CI)”
  • เครือข่ายคนพิการปรับรูปแบบการทำงานผ่านการสื่อสารออนไลน์
  • คนพิการขายหวยฝ่าโควิด-19
  • โคราชโมเดล ต้นแบบการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

นวัตกรรมทางความคิด
(paradigm innovation)

  • แถลงการณ์จากองค์กรคนพิการต่อสาธารณาสุขอังกฤษ
  • การเพิ่มพื้นที่สำหรับคนพิการในสถานการณ์ล็อกดาวน์ 
  • โครงการ “คนพิการอยู่บ้านอย่างไรให้มีความสุขและเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
  • “รายการคนหูหนวก ขอรู้ ล่ามขอเล่า”

และจากการศึกษาสรุปได้ว่า การพัฒนานวัตกรรมการดูแลคนพิการมีความหลากหลายรูปแบบตามบริบทและความต้องการของคนพิการแต่ละประเภท โดยรูปแบบและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมดูแลคนพิการในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีโทรเวชกรรม เป็นการลดการสัมผัสใกล้ชิดกันทางกายภาพระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
  2. เทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่านระบบออนไลน์ โมบายแอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างรอบด้านและสอดคล้องกับประเภทความพิการในแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตาม ผศ.รณรงค์ เสนอว่า จำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบด้านบวกและด้านลบของการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลคนพิการในแต่ละประเภทความพิการ ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการช่วยเหลือคนพิการ ตัวอย่างเช่น มีช่องทางพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยพิการติดเตียงในการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินงานช่วยเหลือคนพิการในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงควรจะมีการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนพิการที่สามารถทำได้ทั้งในระบบออนไลน์และระบบปกติ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คืออะไร? นำมาใช้ศึกษากับการยางแห่งประเทศไทยอย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ดร.พาญพล พึ่งรัศมี’

ชวนอ่านงานวิจัย “ศึกษาวิจัยพร้อมประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (eco-efficiency) …

PartnershipSDG17SDG2SDG8SDG9STISTI x PartnershipTUSDGResearchNetwork

การบังคับใช้กฎหมาย ‘ความเท่าเทียมระหว่างเพศ’ ตามบริบทของประเทศไทยเป็นอย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ. สาวตรี สุขศรี’

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. …

InequalityPolicyPolicy x InequalitySDG10SDG16SDG5TUSDGResearchNetwork

ชวนสำรวจแหล่งกำเนิดและแนวทางลดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี จากงานวิจัยของ ‘ผศ.ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว’

ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการศึกษาเพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน …

HealthLocalizingLocalizing x HealthSDG11SDG17SDG3TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top