สำรวจแนวทางการจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จากประเทศไทย ลาว และจีน เพื่อค้นหาวิธีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ (electronic waste หรือ e-waste) มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านการจัดการขยะนั้น หลายคนยังคงจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ด้วยวิธีการเดียวกับขยะทั่วไป ซึ่งแท้จริงแล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการโดยเฉพาะวิธีการกำจัดที่ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับขยะประเภทอื่น ส่งผลให้ในปัจจุบันหลายประเทศยังคงมีวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไม่ถูกวิธีมากนัก เพื่อค้นหาวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงนำมาสู่การค้นคว้าของงานวิจัยเรื่อง “Development of an analytical method for quantitative comparison of the e-waste management systems in Thailand, Laos, and China” โดย Assistant Professor Dr.Li Liang คณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รศ. ดร.อลิส ชาร์ป สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เลือกศึกษาระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ลาว และจีนมาเป็นกรณีเปรียบเทียบในการศึกษา 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) หมายถึง ขยะในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (electrical and electronic equipment : EEE) อาทิ โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทำให้ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลายมาเป็นหนึ่งในขยะที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากทั่วโลกมีการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทย ลาว และจีนจะมีสัดส่วนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่การกำจัดขยะดังกล่าว อาจสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ หากมีการจัดการขยะอย่างไม่ถูกวิธี ด้วยประเด็นดังกล่าว งานวิจัยฉบับนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้ทำการเลือกเมืองในการศึกษาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามเกณฑ์ของรายได้เฉลี่ยและการสร้างขยะต่อหัว ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งมีที่ตั้งของประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศด้วยกัน คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นผู้สนับสนุนหลัก  ซึ่งเมืองหลวงของประเทศได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัย ได้แก่ ประเทศลาว ไทย และจีน เนื่องจากทั้งสามประเทศ มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ๆ เป็นจำนวนมากประเทศเหล่านี้จึงมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะ เช่น เตาเผาขยะและหลุมฝังกลบขยะจำนวนมากที่สามารถนำมาสะท้อนเป็นตัวอย่างให้แก่เมืองอื่น ๆ ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

เพื่อศึกษาระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ลาว และจีน งานวิจัยฉบับนี้ ได้ศึกษาผ่านวิธีดำเนินการวิจัย การวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ซึ่งใช้วิธีการสำรวจจากแบบสอบถาม สำหรับการวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย กระบวนการ และแนวปฏิบัติ (policy, process, and practice : PPP) ของระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ลาว และจีน 

จากงานวิจัยดังกล่าว ค้นพบผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

ผลการศึกษาจากการสำรวจแบบสอบถาม กลุ่มย่อยของผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร นครหลวงเวียงจันทน์ และปักกิ่ง จากจำนวนแบบสอบถามที่แจกจ่ายและส่งกลับในสามเมือง พบว่า จากการสำรวจ อัตราการตอบกลับมีความเที่ยงตรงและแม่นยำถึงร้อยละ 68 หรือสูงกว่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีหรือดีมาก 

ผลการศึกษตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย กระบวนการ และแนวปฏิบัติ (PPP) พบว่า 

ตัวแปรนโยบาย (P1) จากคำถาม 5 ข้อ ที่ออกแบบมาสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์และข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ดังตารางที่ 1 ได้แก่

  • P101 (ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่) 
  • P102 (ความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์)
  • P103 (ความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม)
  • P104 (สถานะของสภาพแวดล้อม) 
  • P105 (ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม) 

จากตัวแปรทั้งห้าข้อ การตอบแบบสอบถามทั้ง 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครหลวงเวียงจันทน์ และปักกิ่ง แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ p<0.01 ซึ่งจากการกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า ‘ใช่’ และ ‘ไม่’ พบว่า 

  • ผู้ตอบแบบสอบถามจากนครหลวงเวียงจันทน์มีเปอร์เซ็นต์สูงสุดในการตอบว่า ‘ใช่’  ใน P101 ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามจากกรุงเทพมหานคร และปักกิ่ง ซึ่งจากการทบทวนกฎหมายที่แต่ละประเทศนำมาใช้ยิ่งชัดเจนว่า แม้ลาวจะรับรองกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายอื่นใดเพื่อควบคุมการจัดการขยะมูลฝอยหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ 
  • ขณะที่ กรุงเทพมหานครให้คำตอบว่า ‘ใช่’ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด 93.2 % ในคำถาม P102 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามจากกรุงเทพมหานครดูเหมือนจะเต็มใจปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเมื่อเทียบกับจากนครหลวงเวียงจันทน์และปักกิ่ง แต่ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งให้คำตอบว่า ‘ไม่’ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด 41.4 % ในคำถามข้อนี้ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลจีนหรือสถาบันการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีความท้าทายในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์
  • ผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งให้คำตอบว่า ‘ใช่’ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด 97.7% สำหรับ P103 และยังมีเปอร์เซ็นต์สูงสุด 79.7% ที่ตอบว่า ‘ไม่’ สำหรับ P104 ในบรรดาเมืองทั้งสาม ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในกรุงปักกิ่งมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และนครหลวงเวียงจันทน์ รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งยังให้คำตอบ ‘ไม่’ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด 53.2% สำหรับ P105 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้น้อยที่สุดเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในกรุงปักกิ่ง

ตัวแปรกระบวนการ (P2) จากคำถาม 3 ข้อ ที่ออกแบบมาสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินการกู้คืนขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้ใหม่ ดังตารางที่ 1 ได้แก่

  • P201 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการคัดแยก
  • P202 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการสกัด
  • P203 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการเผา

จากตัวแปรทั้งสามข้อ เพื่อสำรวจความรู้ของผู้บริโภค ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครหลวงเวียงจันทน์ และปักกิ่ง แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ p<0.01 ซึ่งจากการกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า ‘ใช่’ และ ‘ไม่’ พบว่า 

  • ผู้ตอบแบบสอบถามจากกรุงเทพมหานคร มีเปอร์เซ็นต์สูงสุดในการตอบว่า ‘ใช่’ ใน P201 ซึ่งอาจเป็นผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน ซึ่งกำหนดให้โรงงานที่ประกอบกิจการคัดแยกและ/หรือ การฝังกลบของเสียในประเทศไทยจะต้องได้รับการควบคุม 
  • ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งให้คำตอบว่า ‘ใช่’ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดอย่างสม่ำเสมอสำหรับ P202 และ P203 ซึ่งเป็นผลมาจากการนำกฎที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์สองข้อมาใช้ในจีน คือ หนึ่ง เกี่ยวกับการนำกลับมาใช้ใหม่และการกำจัดของเสียจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสอง เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและควบคุมมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมของขยะอิเล็กทรอนิกส์

ตัวแปรการปฏิบัติ (P3) จากคำถาม 6 ข้อ ที่ออกแบบมาสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไม่ได้ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังศูนย์รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ได้จัดการขยะด้วยตัวเอง ดังตารางที่ 1 ได้แก่

  • P301 สนับสนุนการควบคุมอัตราการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
  • P302 จ่ายเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • P303 การแลกเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือรับเครื่องทดแทน
  • P304 การเปลี่ยนโทรศัพท์เพื่ออัพเกรดเทคโนโลยีใหม่
  • P305 ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังศูนย์กู้คืนเพื่อนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
  • P306 การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยผู้ค้าปลีก

จากตัวแปรทั้งหกข้อ จากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครหลวงเวียงจันทน์ และปักกิ่ง แสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ p>0.05 ในการให้คำตอบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ สำหรับ P305 และ P306 ซึ่งระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามจากสามเมืองไม่ได้ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังศูนย์กู้คืนเพื่อนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ หรือไม่ได้จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตัวเอง ขณะที่ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ p<0.01 ในการให้คำตอบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ สำหรับตัวแปรการปฏิบัติที่เหลืออีกสี่ตัว ได้แก่ P301, P302, P303 และ P304 จากทั้งสามเมือง พบว่า 

  • ผู้ตอบแบบสอบถามจากกรุงเทพมหานครให้คำตอบว่า ‘ใช่’ มากที่สุดสำหรับ P301 เมื่อเทียบกับนครหลวงเวียงจันทน์และปักกิ่ง 
  • ผู้ตอบแบบสอบถามจากนครหลวงเวียงจันทน์ให้คำตอบว่า ‘ใช่’ ในเปอร์เซ็นต์สูงสุด สำหรับ P302 มากกว่าผู้ตอบจากกรุงเทพฯ และปักกิ่ง 
  • ขณะที่ P303 และ P304 เป็นการออกแบบสอบถามมาเพื่อระบุเหตุผลของการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามจากกรุงเทพฯ ให้เปอร์เซ็นต์สูงสุดในการตอบว่า ‘ใช่’ สำหรับ P303 ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดไทย มีรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามจากปักกิ่งและนครหลวงเวียงจันทน์ มีเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกันในการตอบว่า ‘ใช่’ กับ P304 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนโทรศัพท์ตามความทันสมัยของเทคโนโลยี

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวอภิปรายผลที่น่าสนใจไว้หลายประการ อาทิ

  • นครหลวงเวียงจันทน์ การดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันจำเป็นจะต้องมีการฝึกอบรมและกิจกรรมสร้างความตระหนัก เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล หรือแม้แต่การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
  • ปักกิ่ง รัฐบาลจีนต้องเพิ่มพูนความรู้ของประชาชนเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสร้างความตระหนักถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

กล่าวโดยสรุป ประเด็นการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ด้วยปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนการศึกษาการจัดการขยะในประเทศต่าง ๆ จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายในการพัฒนาและสร้างระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพ งานวิจัยดังกล่าวอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ตัดสินใจให้สามารถปรับปรุงขับเคลื่อนนโยบายไปได้ในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมตอบรับต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573

ข้อมูลงานวิจัย: Liang, L., Sharp, A. (2016). Development of an analytical method for quantitative comparison of the e-waste management systems in Thailand, Laos, and China. Waste Management & Research, 34(11). DOI:10.1177/0734242X16662333. 

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: Assistant Professor Dr.Li Liang คณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รศ. ดร.อลิส ชาร์ป สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

เครื่องฝึกเดิน I-Walk สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ฟื้นฟูสมรรถภาพการเดินได้ดีกว่ากายภาพบำบัดทั่วไปอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความบกพร่องต่าง …

HealthSDG3SDG9STISTI x HealthTUSDGResearchNetwork

LAW-U แชทบอทให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย แก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ ผ่านการประมวลผลภาษาธรรมชาติด้วยปัญญาประดิษฐ์

ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) …

InequalitySDG16SDG5SDG9STISTI x InequalityTUSDGResearchNetwork

‘อนุภาคนาโนแบบจำเพาะกับเป้าหมาย’ สำหรับการขนส่งยาเคมีบำบัดสู่เซลล์มะเร็ง คืออะไร? และดีกว่าการรักษามะเร็งแบบเดิมอย่างไร?

โรคมะเร็ง เป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในปี …

HealthSDG3SDG9STISTI x HealthTUSDGResearchNetwork
Scroll to Top