สำรวจความเสี่ยงไข้เลือดออกในภาคกลางของไทย พร้อมค้นหาคำตอบความเชื่อมโยงกับ Climate Change ผ่านงานวิจัยเชิงพรรณนา 

โรคไข้เลือดออกเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของผู้ป่วยและระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่าโรคไข้เลือดออกแพร่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานว่าพบผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 2.9 ล้านราย และเสียชีวิต 5,906 ต่อปี สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินของประเทศต่าง ๆ กว่า 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะทางการเงินที่ค่อนข้างย่ำแย่อยู่เดิมแล้ว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนเพียงภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ได้ศึกษาอย่างลงรายละเอียดเชิงพื้นที่ และเมื่อพิจารณางานวิจัยอื่น ๆ ที่ศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ก็พบว่ายังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาการอุบัติของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ระหว่างปี 2543 – 2554 อย่างชัดเจน เพื่อศึกษาและเติมเต็มช่องทางประเด็นดังกล่าว Uma Langkulsen และ Nigel James คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Kamol Promsakha Na Sakolnakhon กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Climate Change and Dengue Risk in Central Region of Thailand” โดยมีเป้าประสงค์สำคัญคือเพื่อสำรวจตรวจสอบผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่ออุบัติการณ์โรคไข้เลือดออก และเพื่อประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบดังกล่าวต่อพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย

ด้วยประเด็นและปลายทางของผลลัพธ์ที่เน้นศึกษาความสัมพันธ์และผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก ทั้งยังมุ่งฉายภาพความเสี่ยงเชิงพื้นที่เพื่อให้เกิดการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 


วิจัยเชิงพรรณนา ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง

Uma Langkulsen และคณะใช้การวิจัยเชิงพรรณนา (descriptive research) โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกระหว่างปี 2550 – 2559 ที่พบใน 1,940 ตำบล จากพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลางของประเทศไทย ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาถ สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยจำแนกข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาการไข้เดงกี (dengue fever: DF) กลุ่มที่ 2 ไข้เลือดออกเดงกี (dengue hemorrhagic fever: DHF) และกลุ่มที่ 3 ไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome: DSS)  นอกจากนี้ ยังมีการใช้อีกหนึ่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์ คือข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ระหว่างปี 2550 – 2559 โดยพิจารณาเฉพาะปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย และความเร็วลม


ข้อค้นพบ “ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา” ต่ออุบัติการณ์โรคไข้เลือดออก

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ โดยแบ่งเป็นตามประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • สภาพทางอุตุนิยมวิทยา : พบว่าสภาพภูมิอากาศในภาคกลางของประเทศไทยมีลักษณะอบอุ่นและชื้น (warm and humid) มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 28.6 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 73.9 เปอร์เซ็นต์ โดยเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิรายเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 25.8 องศาเซลเซียส เดือนเมษายนเป็นเดือนที่อุณหภูมิรายเดือนสูงสุดอยู่ที่ 30.8 องศาเซลเซียส ส่วนเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงที่สุดอยู่ที่ 81 เปอร์เซ็นต์
  • สถานการณ์การเกิดโรคไข้เลือดออก : พบว่าระหว่างปี 2550 – 2559 ผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลางที่ทำการศึกษา มีทั้งสิ้น 238,691 ราย โดยภาพรวมพบว่าผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ขณะที่ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนและระดับอุณหภูมิ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษานี้พบว่าระหว่างปี 2557 – 2558 โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง โดยจุดสูงสุดของอยู่ที่ปี 2558 ซึ่งมีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่า 50,000 คน ขณะที่อัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ 120.2 ต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวคือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเเละมีความชื้นที่เพิ่มสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้โรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้ง่าย
  • ความเสี่ยงเชิงพื้นที่ : พบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกในระดับปานกลาง คือ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงรุนแรง คือ จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงถึงรุนแรงมากคือจังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี 
  • ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ : พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกต่ำมากตลอดสี่ปีของปรากฏการณ์เอลนีโญและสามปีของลานีญา ขณะที่กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงสูงต่อโรคไข้เลือดออกในช่วงปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา จังหวัดนนทบุรีและสมุทรสาครมีความเสี่ยงปานกลางต่อโรคไข้เลือดออกในปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ในช่วงปีที่ปรากฏการณ์เอนโซ่ (El Niño/Southern Oscillation : ENSO) หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบบรรยากาศมหาสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเป็นกลางและปีที่เกิดลานีญา พื้นที่ทางตอนใต้บางส่วนซึ่งได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และสมุทรสาครมีความเสี่ยงระดับปานกลาง
รูปภาพประกอบด้วย โต๊ะ
คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

เสนอ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ เตรียมพร้อมป้องกัน 

ข้อค้นพบข้างต้น นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ สามารถศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับกับการจัดการโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลางได้ โดย Uma Langkulsen และคณะ แนะนำว่าแผนที่ประเมินความเสี่ยงระดับอำเภอและระดับจังหวัดเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อม วางแผนป้องกัน และควบคุมการเกิดโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอยู่สองประการสำคัญ คือ การศึกษาไม่ได้ลงรายละเอียดในระดับตำบล และข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออกจากสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Climate Change and Dengue Risk in Central Region of Thailand” ได้สะท้อนว่าพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากน้อยเพียงใด และมีความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เมื่อได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ โจทย์สำคัญดังเช่นข้อเสนอของคณะผู้วิจัยคือจะศึกษาและนำไปสู่การออกแบบหรือวางแผนเพื่อป้องกันและจัดการอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องว่าคำนึงถึงปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า

ข้อมูลงานวิจัย:  Uma Langkulsen, Kamol Promsakha Na Sakolnakhon & Nigel James. (2020). Climate change and dengue risk in central region of Thailand, International Journal of Environmental Health Research, 30(3), 327-335, DOI: 10.1080/09603123.2019.1599100
ชื่อผู้วิจัย -สังกัดUma Langkulsen และ Nigel James คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Kamol Promsakha na Sakolnakhon กรมอุตุนิยมวิทยา

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

สถานการณ์การหกล้มของผู้สูงอายุในอาเซียนเเละมาตรการป้องกันเป็นอย่างไร ชวนสำรวจผ่านการทบทวนงานวิจัยที่หลากหลาย

การหกล้มในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับวันยิ่งมีความกังวลมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง …

LocalizingSDG3TUSDGResearchNetwork

ค้นหาปัจจัยที่ก่อให้เกิด ‘โรคอ้วนในวัยรุ่น’ ในเขตเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อนำไปปรับปรุงภาวะโภชนาการ

องค์การอนามัยโลก (World Health …

HealthPolicyPolicy x HealthSDG2SDG3SDG4TUSDGResearchNetwork

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในแต่ละภาคของไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่ากัน

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct …

LocalizingLocalizing x PartnershipPartnershipSDG1SDG10SDG17SDG8TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top