สำรวจการนำ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ มาใช้ ในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย พร้อมค้นหาปัจจัยหนุนเสริมและอุปสรรค

ปัจจุบัน โลกได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ซึ่งหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่าง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy : CE) มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน โดยได้ให้ความสำคัญกับการปรับใช้หมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเรื่อง “Circular Economy: Exploratory Study of Steel Industry in Thailand” โดย Vichathorn Piyathanavong สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ 

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (CE) เป็นโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต พร้อมช่วยคงสภาพมูลค่าของผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ ให้สามารถใช้ได้ในระยะยาว รวมถึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ความสำคัญกับการสร้างวัฏจักรหมุนเวียนของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ พลังงาน และการจัดการของเสียที่เหลือทิ้ง นอกจากนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียน ยังมีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยรักษาทรัพยากรในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ  เมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุการใช้งาน (End-of-Life : EoL) ก็สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (linear economy) ที่เคยใช้กันมาซึ่งเป็นเพียงนำทรัพยากรมาใช้เพื่อผลิตสินค้า และเมื่อหมดประโยชน์ก็จะถูกกำจัดทิ้งไป เช่นนั้นแล้ว เมื่อวัสดุมีการหมุนเวียน ก็จะช่วยลดความผันผวนของราคาและการขาดแคลนวัสดุลง รวมถึงช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคการผลิต นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นภาคส่วนที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานสูงสุด มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด รวมถึงเป็นสาเหตุหลักในการสร้างก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHG) ในชั้นบรรยากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา ดังนั้น เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเหล็ก เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นอีกทางเลือกในการนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น 

ด้วยประเด็นดังกล่าวที่มุ่งมั่นจะศึกษาการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า (steel industry) ของประเทศไทย งานวิจัยนี้สอดคล้องความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยฉบับนี้ ได้ศึกษาการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า (steel industry) ของประเทศไทย ผ่านวิธีการศึกษา การสํารวจจากแบบสอบถาม (survey questionnaire) ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในประเทศไทยและวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เครื่องมือทางสถิติเชิงพรรณนา แผนภูมิแท่ง และแผนภูมิวงกลม เพื่อนำมาอธิบายและสรุปผล ซึ่งแบบสอบถามดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง รวบรวมข้อมูลรายละเอียดทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามและองค์กร สอง ระบุ ความสำเร็จและแรงจูงใจในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ และสาม ประเมินอุปสรรคและความท้าทายเกี่ยวกับการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ 

จากงานวิจัยดังกล่าว ได้ผลการศึกษาโดยสรุปที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

  • บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมในการศึกษา พบว่า เป็นบริษัทขนาดใหญ่ 76% รองลงมา คือ บริษัทขนาดกลาง 14% และบริษัทขนาดเล็ก 10% โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะครอบคลุมตำแหน่งต่าง ๆ ในบริษัทผลิตเหล็ก ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีประสบการณ์การดำเนินงานที่ยั่งยืนสูงถึง 34.0% 
  • จากการศึกษาปัจจัยภายใน (internal driver) ที่หนุนเสริมให้มีการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ  พบว่า บริษัทผลิตเหล็กของไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 61.9% มีการส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว ลดการพึ่งพาทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ 57.1% การช่วยประหยัดต้นทุน 52.4% และเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการผลิตของบริษัท 47.6%
  • ขณะที่ ปัจจัยภายนอก (external driver) ที่หนุนเสริมให้มีการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ  พบว่า การลดลงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์การ 52.4% มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยรัฐบาล 38.1%  แรงกดดันของลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 28.6%  อย่างไรก็ดี ความพร้อมในการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและภาคเอกชน มีเพียง 4.8% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าบริษัทผลิตเหล็กของไทยส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินจากภายนอกในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวพบอุปสรรคและความท้าทายที่น่าสนใจ อาทิ

  • อุปสรรคภายในที่ไม่นำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ พบว่า ขาดการฝึกอบรมและความรู้ 51.7% ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก 44.8% ขาดการสนับสนุนจากระดับการจัดการ 41.4% ขาดประโยชน์จากความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 34.5% ขาดแหล่งทรัพยากร เช่น เทคโนโลยีสีเขียว 24.1% และขาดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม 3.4%
  • อุปสรรคภายนอกที่ไม่นำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปฏิบัติ พบว่า ขาดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐบาล 27.6% ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น เครดิตภาษีและสิ่งจูงใจอื่น ๆ 13.8% และขาดการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลและ/หรือเอกชน 6.9% 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถิติอุปสรรคภายในส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าบริษัทผลิตเหล็กกล้าในประเทศไทย ยังขาดทรัพยากรความรู้และการฝึกอบรมที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้อาจให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านอื่น ๆ มากกว่าการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะบริบทของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีทรัพยากรอย่างจำกัดและสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ทำให้บริษัทอาจพิจารณาผลประโยชน์ในระยะสั้นก่อน

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อบรรลุความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการผลิต ซึ่งเป็นการช่วยดึงคุณค่าสูงสุดจากทรัพยากรและเก็บไว้ใช้ให้นานที่สุด ทว่าจากการสำรวจตรวจสอบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงพบข้อจำกัดมากมาย ซึ่งหากทุกภาคส่วนสามารถนำ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ มาปฏิบัติใช้ได้อย่างแท้จริง ก็อาจช่วยให้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สามารถกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ได้ออีกครั้ง แทนที่จะกลายเป็นขยะเหลือทิ้งเมื่อสิ้นสุดการบริโภค อันเป็นส่วนช่วยในการลดการสร้างขยะและลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น

ข้อมูลงานวิจัย: Piyathanavong, V., Garza-Reyes, J.A., Huynh, V.-N., Olapiriyakul, S., and Karnjana, J. (2021). Circular economy: Exploratory study of steel industry in Thailand. Proceedings of the International Conference on Industrial Engineering and Operations Management. pp. 1-26
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: Vichathorn Piyathanavong สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ 

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

สำรวจเเนวทางบำบัดน้ำทิ้งของรีสอร์ตในอัมพวา ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียบึงประดิษฐ์การไหลเวียนใต้ชั้นกรอง ทางเลือกส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เเละยั่งยืน

“การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” เป็นหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวสำคัญที่ประเทศไทยนำมาปรับใช้สำหรับการปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หนึ่งในเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากโฮมสเตย์และรีสอร์ต …

SDG12SDG6SDG8TUSDGResearchNetwork

การผลิตไฟฟ้าจากขยะในประเทศไทย มีเทคโนโลยีและแหล่งของเสียใดบ้างที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยปี พ.ศ. 2556 …

SCPSDG11SDG12SDG7SDG9STISTI x SCPTUSDGResearchNetwork

พัฒนาการออกแบบ ‘พื้นที่สีเขียว’ ในเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร ผ่านการศึกษาแบบจำลองสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่สีเขียว’ …

HealthPolicyPolicy x HealthSDG11SDG3TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top