โอนอำนาจจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ อปท. มีความพร้อมแค่ไหน – ต้องหนุนเสริมอะไรเพิ่มบ้าง ? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ศ.ระพีพรรณ คำหอม และคณะ

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาผลการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสู่ความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดย ศ.ระพีพรรณ คำหอม, ผศ.ดร.ธันยา รุจิเสถียรทรัพย์ และ ผศ.รณรงค์ จันใด คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยตั้งต้นมาจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย นับว่าเป็นหนึ่งในสวัสดิการสำหรับเด็กในครอบครัวและเป็นการจัดบริการสนับสนุนมิติเศรษฐกิจของครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจสามารถนำเงินอุดหนุนไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

อย่างไรก็ดีจากการติดตามและประเมินผลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2559 – 2560 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่าโครงการดังกล่าวเกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงของกลุ่มเป้าหมายแท้จริง (exclusion error) พร้อมกับการรั่วไหลไปสู่ผู้ที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมาย (inclusion error) เพื่อแก้ปัญหาและช่องโหว่ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบถ่ายโอนอำนาจการดำเนินโครงการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีหน้าที่สำคัญ อาทิ ร่วมค้นหากลุ่มเป้าหมาย ลงทะเบียน การตรวจสอบ สิทธิ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 

เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง ศ.ระพีพรรณ และคณะจึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การศึกษาความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อผลการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเปรียบเทียบความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เเละเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง

ศ.ระพีพรรณ และคณะ ดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาแบบผสานวิธี (mixed methods) วิธีการศึกษาแรก คือ การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับนโยบาย แผนการกระจายอำนาจ รูปแบบ การบริหารจัดการโครงการ รวมทั้งการเตรียมบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากร วิธีการต่อมาใช้การวิจัยเชิงปริมาณ  (quantitative research) โดยประชากรที่ใช้ศึกษามีทั้งสิ้น 1,135 คน จากผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 7,852 แห่ง และวิธีสุดท้ายการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการสนทนากลุ่มย่อย (focus group) ใน 8 จังหวัด จำนวน 150 คน

งานวิจัยข้างต้นได้ผลการศึกษาที่สำคัญ อาทิ 

  • ข้อมูลทั่วไปของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า กลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุระหว่าง 31-40 ปี อายุมากที่สุด 81 ปี อายุน้อยที่สุด 18 ปี อายุเฉลี่ยเท่ากับ 40.9 ปี 
  • กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่า โครงการเงินอุดหนุนฯ มีผลที่เกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดในระดับมาก ได้แก่ เด็กแรกเกิดมีสิทธิเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ เด็กแรกเกิดสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข
  • กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า โครงการเงินอุดหนุนฯ มีผลที่เกิดขึ้นกับสังคมในระดับมาก ได้แก่ การจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดส่งเสริมให้แม่และเด็กได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานรัฐ 
  • กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยระดับมากเกี่ยวกับ อปท. เป็นด่านแรกของการรับลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
  • อปท. มีความพร้อมด้านที่ตั้งของ อปท. สะดวกต่อการเข้าถึงของประชาชน และการมีช่องทาง ที่หลากหลายในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนฯ 
  • กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจ ฯ ในภาพรวมทั้งหมดมีค่าเฉลี่ย 3.4 อยู่ในระดับปานกลาง 

นอกจากนี้ ศ.ระพีพรรณ และคณะ ยังได้เสนอแนะแนวทางและแผนการปฏิบัติการในการถ่ายโอนภารกิจการจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตามกรอบแนวคิด PESTEL (PESTEL analysis) ไว้หลายประการ อาทิ

  • กรมกิจการเด็กและเยาวชน ควรแก้ไขประกาศ เรื่องกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงิน อุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงาน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ผู้ปฏิบัติงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น
  • กรมกิจการเด็กควรทำหน้าที่ชี้แจงและเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัด (พมจ.) ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ติดตามการดำเนินงานในระดับจังหวัด และเสนอ คณะอนุกรรมการประสานและส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด
  • อปท. มอบหมายบุคลากรให้การดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบในขั้นตอน/ วิธีปฏิบัติในการยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ศ.ระพีพรรณ และคณะ ได้พยายามชี้แนะให้เห็นถึงข้อคิดเห็น ความพร้อม และสิ่งที่ควรหนุนเสริมในการถ่ายโอนอำนาจการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเด็กแรกเกิดแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการขยับปรับเปลี่ยนที่สะท้อนถึงการหนุนเนื่องบทบาทของชุมชนท้องถิ่นให้เป็นตัวแสดงหลักของการขจัดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้คนในชุมชนของตนสามารถการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างแท้จริง

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Related

การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม มีสิ่งใดที่ต้องคำนึงถึงบ้าง? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล’

ชวนอ่านงานวิจัย “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา …

SDG12SDG9STI x SCPTUSDGResearchNetwork

ตัวแบบการบูรณาการภารกิจรัฐในพื้นที่จังหวัดและเครื่องมือสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง มีอะไรบ้าง? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์’

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาการจัดทำต้นแบบความร่วมมือในการบูรณาการภารกิจรัฐในพื้นที่จังหวัด” โดย …

PartnershipSDG11SDG17STISTI x PartnershipTUSDGResearchNetwork

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ดร. วาสินี วรรณศิริ’

ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด” โดย ดร. …

LocalizingLocalizing x SCPSCPSDG11SDG13SDG15TUSDGResearchNetwork
Scroll to Top